ICA ตั้งเป้าปี 73 เพิ่ม 4 ล้านสหกรณ์คุม 20% จีดีพีโลก

26 พ.ค. 2560 | 04:25 น.
ประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ครั้งที่ 10 ที่เวียดนาม มีมติ 7 ข้อให้ประเทศสมาชิก ICA ไปดำเนินการในทิศทางเดียวกัน ตั้งเป้าปี 2573 เพิ่มจำนวนสมาชิกเป็น 2 พันล้านคน จำนวน 4 ล้านสหกรณ์ ครอบคลุม 20% จีดีพีโลก

จากที่องค์การสัมพันธภาพระหว่างประเทศ (International Cooperative Alliance : ICA - AP)  ICA ได้จัดประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง  ซึ่งเป็นการจัดประชุมระดับสูงของภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้แทนระดับสูง และกำหนดกรอบแนวทางและกลยุทธ์ความร่วมมือ ระหว่างภาครัฐและสหกรณ์ในการพัฒนาสหกรณ์ ให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง และสามารถปรับบทบาทได้ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบันที่เกิดขึ้น

สำหรับปีนี้  เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ ครั้งที่ 10 ซึ่งทางกระทรวงแผงงานและการลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมกับองค์กรสัมพันธภาพสหกรณ์เวียดนาม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 เมษายน 2560 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีหัวข้อประชุมว่า “วิสัยทัศน์ในทศวรรษที่ 30 การเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนอย่างแข็งแกร่ง ระหว่างภาครัฐและขบวนการสหกรณ์ต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs)” นำโดย H.E. Madam Dang Thi Ngoc Thinh รองประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม กล่าวเปิดการประชุมมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 500 คน จาก 22 ประเทศ ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ จำนวน 10 ประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลสหกรณ์และขบวนการสหกรณ์ระดับชาติของประเทศสมาชิกองค์การ ICA สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิกฟิก จำนวน 12 ประเทศ

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย เข้าร่วมในการประชุมดังกล่าว พร้อมทั้งได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยและขบวนการสหกรณ์ไทย  เผยว่า ที่ประชุมร่วมกันของประเทศสมาชิก ICA มีมติให้รัฐบาลของประเทศสมาชิกส่งเสริมและพัฒนาสหกรณ์ ในนโยบายระดับชาติโดยยึดตาม HANOI APCMC RESOLUTION 7 ข้อ ดังนี้ 1.ให้สหกรณ์จัดตั้งและดำเนินการโดยอิสระและด้วยความสมัครใจ ภายใต้ร่างระเบียบกฎหมาย 2.ให้สหกรณ์เอื้อประโยชน์ให้แก่บุคคลที่ด้วยโอกาสในสังคม ได้แก่ ผู้อพยพ ผู้ลี้ภัยและผู้พิการ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการทำธุรกิจกับสหกรณ์ หรือการจ้างงาน

3.ควรวางกลยุทธ์ในการพัฒนาสหกรณ์โดยความร่วมมือในรูปแบบเครือข่าย ในระดับชาติและสหกรณ์ท้องถิ่น โดยให้ตอบสนองความต้องการและใช้โอกาส (Opportunity) ที่สหกรณ์มีอยู่ เพื่อพัฒนาปัญหาและอุปสรรคของสหกรณ์ร่วมกัน รวมทั้งศึกษา อบรมให้แก่ขบวนการสหกรณ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs 4.ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) กับรัฐบาลและสหกรณ์ในฐานะหุ้นส่วนที่มีการสร้างวิธีการสร้างสรรค์ใหม่ๆ บนพื้นฐานการปกครองและการบริหารด้วยตนเองของสหกรณ์โดยสมาชิกสหกรณ์  5.สร้างชุมชนที่เข้มแข็งบนพื้นฐานการสหกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในทางเพศ เพื่อหล่อหลอมให้สังคมเป็นหนึ่งเดียวกัน 6.ประเทศสมาชิกควรร่วมมือกันใช้ Information Technology เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีความโปร่งใสและทันสมัย และ7.สนับสนุนความร่วมมือระหว่างสหกรณ์และวิสาหกิจอื่นๆ บนหลักการและคุณค่าสหกรณ์ เพื่อให้ขบวนการสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถยืดหยุ่นได้

ผลจากการประชุมครั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มองเห็นถึงทิศทางที่จะพัฒนาระบบสหกรณ์ในประเทศไทย โดยการให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership) และช่วยสหกรณ์ในเรื่องการตลาด (Marketing Channel) รวมถึงการส่งเสริมการค้าขายแบบ (E-Commerce) เพื่อขยายธุรกิจได้อย่างหลากหลายมากขึ้นและเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว กรมจึงได้จัดทำแผนการปฏิบัติการเพื่อติดตามผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายในเดือนสิงหาคม 2560 ด้วยรูปแบบ coopfor2030.cooop

สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานสหกรณ์ของประเทศสมาชิก ICA เป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างหุ้นส่วนและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องกับขบวนการสหกรณ์ เพื่อร่วมกันดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย โดยยกระดับให้สหกรณ์มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาประเทศสมาชิกอย่างยั่งยืน และได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน ปี พ.ศ.2573 จะเพิ่มจำนวนสมาชิกสหกรณ์เป็น 2,000 ล้านคนและ 4 ล้านสหกรณ์               ซึ่งครอบคลุม 20% ของเศรษฐกิจโลก เพื่อช่วยลดปัญหาความยากจน เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชน