บริหารด้วยแรง ศรัทธา เปลี่ยนความเชื่อเรื่องพรสวรรค์ด้วยการศึกษา

28 พ.ค. 2560 | 01:00 น.
สำหรับเรื่องการออกแบบและงานศิลปะของคนไทยแต่ก่อนเราเชื่อในเรื่องของการมี “พรสวรรค์” ในการรังสรรค์ผลงานแต่ต่างประเทศไม่ใช่ การเรียนรู้และการผลิตชิ้นงานของต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับ“แรงบันดาลใจ” จนสามารถตีโจทย์ กำหนดแนวคิด แนวทางการผลิตจนสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานได้ เพราะฉะนั้นการทำให้สังคมเข้าใจและเห็นความสำคัญของการศึกษาเรื่องการออกแบบจึงเป็นเรื่องท้าทายไม่แพ้การพัฒนาการศึกษาในด้านอื่น

เส้นทางชีวิตที่ดูห่างไกลจากคำว่า“แฟชั่น” ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาครสุขศรีวงศ์ ผู้ศึกษาและทำงานเชิงวิเคราะห์ในฐานะผู้บริหาร และอาจารย์พิเศษด้านการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากการมองเห็น“เสื้อนอก” ที่เหมือนๆ กันหมด ได้เปลี่ยนเป็น “เสื้อนอก” ที่มีรายละเอียดของเนื้อผ้าฝีเข็มการเย็บ และการออกแบบที่แตกต่างกันหลังจากได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ หรือ CIDI Chanapatana

ในอดีต “การศึกษา” กับ “วัด” และ“พระสงฆ์” เป็นเรื่องที่มีการพัฒนาคู่กันมาโดยตลอด “ชนาพัฒน์” เองก็เช่นกัน สถาบันออกแบบนานาชาติที่เต็มไปด้วยความทันสมัยความครบครันของเครื่องมือ คณาจารย์และหลักสูตรด้านการออกแบบถึง 2 หลักสูตรคือสาขาด้านการออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) และ การออกแบบตกแต่งภายในและผลิตภัณฑ์ (Interior & Product Design) แห่งนี้ใครจะเชื่อว่า เริ่มต้นจากพระสงฆ์รูปหนึ่งในลูกศิษย์สายปฏิบัติของแม่ทัพธรรมหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต “พระธรรมมงคลญาณ(หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)” ผู้มุ่งมั่นพัฒนาคนทั้งทางโลกและทางธรรม สมดังคำกล่าวของหลวงปู่มั่นที่ว่า “ถ้าหลวงพ่อวิริยังค์ไปอยู่ที่ใดขอให้ที่นั่นมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม”ด้วยวิสัยทัศน์ของหลวงพ่อวิริยังค์ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสินค้าในประเทศ การให้ความสำคัญกับการออกแบบจึงถูกริเริ่มขึ้น ณ วัดธรรมมงคล เพื่อสร้างนักออกแบบที่มีคุณภาพแกนหลักสำคัญในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย

[caption id="attachment_154396" align="aligncenter" width="335"] บริหารด้วยแรง ศรัทธา เปลี่ยนความเชื่อเรื่องพรสวรรค์ด้วยการศึกษา บริหารด้วยแรง ศรัทธา เปลี่ยนความเชื่อเรื่องพรสวรรค์ด้วยการศึกษา[/caption]

กว่า 14 ปีที่อาจารย์สาคร ก้าวขึ้นมาสู่การบริหารงานสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ สถาบันการศึกษาที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ Social Enterprise ไม่แสวงหาผลกำไร ด้วยการนำประสบการณ์การทำงานหลอมรวมสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง พร้อมกับคณะผู้บริหารมากฝีมือที่นำแรงศรัทธาที่ปราศจากผลประโยชน์มาร่วมผลักดันให้“ชนาพัฒน์” ก้าวไปไกลกว่าเดิมด้วยวิธีการบริหารที่เน้นความคล่องตัวให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างองค์กรในทุกปีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีฝีมือได้ลองบทบาทหน้าที่ใหม่ๆ และสร้างความท้าทายให้กับงานด้านพัฒนาการศึกษาที่ต้องขับเคลื่อนให้ไกลและไวกว่ากระแสโลก

“การเข้ามาบริหารสถาบันทำให้ผมเห็นชัดขึ้นว่าเมืองไทยมีคนที่ชื่นชอบการออกแบบเยอะ แต่ประเทศไทยสมัยก่อนเราตัดสินชีวิตมนุษย์กันครั้งเดียวตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยสอบเข้าได้คณะไหนก็ต้องเรียนและทำอาชีพนั้นไปตลอดชีวิต คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้เลย แต่ตอนนี้แตกต่าง 20 ปีก่อนคนไทยชอบอะไรเหมือนๆ กัน สินค้าทุกอย่างออกมาหน้าตาเดียวกันหมด 10 ปีต่อมาเราติดแบรนด์ให้นิยมซื้อของแบรนด์เนมส่งเงินออกนอกประเทศ แต่ปัจจุบันคนไทยต้องการสินค้าที่ตอบสนองความเป็นปัจเจกของตนเองเป็นการเฉพาะ เปิดโอกาสให้แบรนด์ใหม่ นักออกแบบหน้าใหม่ของไทยได้แสดงฝีมือให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น”

การกำหนดหลักสูตรตั้งแต่ระดับพื้นฐานเพื่อตอบโจทย์ผู้เรียนหลากหลายกลุ่มทั้งผู้ที่เข้ามาเรียนเพื่อสานต่อหรือต่อยอดธุรกิจครอบครัว ผู้ที่ชอบงานออกแบบแต่ต้องสอบเข้าเรียนในคณะหรือสายวิชาที่ตรงตามความต้องการของครอบครัว ผู้ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักออกแบบเต็มตัว ทั้งผู้เบื่องานประจำหรือต้องการหาความท้าทายใหม่ๆ ผู้มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าในการเดินทางสายนักออกแบบจึงเริ่มเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยหรือแม้กระทั่งผู้ที่ทำงานสายออกแบบอยู่แล้วแต่ต้องการผ่าทางตันของตัวเอง ด้วยการเริ่มเรียนใหม่ หาแรงบันดาลใจใหม่ๆ จากเพื่อนร่วมชั้นเรียน ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในมุมมองแบบนานาชาติ ทั้งผู้เรียนและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านการคัดสรรจากหลากหลายประเทศ อาทิ อิตาลี เยอรมันสเปน ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

[caption id="attachment_154397" align="aligncenter" width="503"] ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์[/caption]

“ถ้าเราเรียนด้วยคนไทยทำทุกอย่างด้วยความเป็นไทย สถาบันของเราไปได้ก็จริงแต่เราจะไม่ทันต่อกระแสโลก การมุ่งสู่ความเป็นนานาชาติทั้งคณาจารย์และนักศึกษาเพื่อให้นักศึกษาไทยเองได้เรียนรู้ว่าแต่ละที่ แต่ละแห่งที่แตกต่างกันทั้งประวัติศาสตร์ความเป็นมาภาษา และวัฒนธรม คิดแตกต่างกันอย่างไรเพื่อพัฒนางานออกแบบของเราให้ดียิ่งขึ้น”

ความสำเร็จสถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ นอกจากคำว่า “Internationalization” การยกระดับหลักสูตรการศึกษาทั้งระบบเพื่อพัฒนาสถาบันและผู้เรียนให้ก้าวสู่การรับรู้และจดจำในระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว แล้วยังมีอีกสองกุญแจความสำเร็จสำคัญคือ “Collaboration” การผนึกความร่วมมือกับสถาบันการออกแบบชื่อดังระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น RCA: Royal College of Art สถาบันการออกแบบชั้นนำแห่งกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สถาบัน NABA และ Domus Academy โรงเรียนสอนศิลปะและการออกแบบชื่อดังแห่งกรุงมิลานประเทศอิตาลี และ IED: Istituto Europeo di Design สถาบันชั้นนำด้านการแฟชั่นและการออกแบบของอิตาลี ฯลฯ เพื่อเชื่อมโยงโลกสู่ไทยพัฒนาให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบในระดับภูมิภาคอย่างเต็มตัว สุดท้ายคือ “Professional”การสร้างให้ผู้เรียนมีความเป็นมืออาชีพสามารถนำแรงบันดาลใจและแรงผลักดันที่มีอยู่เต็มเปี่ยมไปสร้างสรรค์เป็นผลงาน ให้ทุกคนสามารถเริ่มจากสิ่งที่ชอบสู่ความเป็นมืออาชีพ “Real Passion Real You” ได้อย่างเต็มรูปแบบ

“การศึกษาเหมือนกับการปลูกต้นไม้ต้องใช้เวลาในการวางรากฐาน เตรียมดินเติมปุ๋ยให้ดี ต้องอดทนและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคจนถึงวันที่นักศึกษาไปแสดงฝีมือให้คนไทยและชาวโลกเห็นว่าเราทำได้ นั้นคือว่าที่ต้นไม้ของเราเริ่มผลิดอกออกผล สร้างกำลังใจให้เราเดินหน้าต่อไป”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560