กสร.กำหนดแผนป้องกันอุบัติเหตุจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า

24 พ.ค. 2560 | 07:46 น.
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หารือผู้เกี่ยวข้องก่อสร้างทางรถไฟและทางยกระดับ ร่วมกำหนดมาตรการ แนวทางป้องกันอุบัติเหตุในงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน ป้องกันเหตุซ้ำรอยอุบัติเหตุรถไฟฟ้าสายสีแดง พร้อมเผย 5 มาตรการหลัก

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า กสร.ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนประเภททางรถไฟและทางยกระดับ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้รับเหมา ผู้บริหารโครงการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (สสปท.) มาประชุมหารือเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการ แนวทางในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานในงานก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดปริมณฑล และจังหวัดต่อเนื่อง

ในการหารือครั้งนี้ กสร. ได้กำหนดมาตรการป้องกัน ดังนี้ จัดประชุมหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อกำหนดมาตรการหรือแนวทางป้องกันร่วมกัน เสนอให้มีการปรับปรุงและทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐ ปรับปรุงการดำเนินคดีอาญากับสถานประกอบกิจการที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำงานจนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต โดยไม่มีการเปรียบเทียบปรับ และเพิ่มโทษสถานประกอบกิจการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน จัดชุดตรวจความปลอดภัยเฉพาะกิจสำหรับงานก่อสร้างที่มีความเสี่ยงพิเศษ ได้แก่ การก่อสร้างระบบทางยกระดับ (รถไฟฟ้าและรถไฟ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล โดยมีระยะดำเนินการ 60 วัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2560 และประสานขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจที่มีการทำสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนและบริษัทเหมาเช่น รฟท. ให้ยึดถือมาตรการและการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงานและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องมาตรการในการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุในงานก่อสร้างของรัฐอย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานความร่วมมือหน่วยงานทางวิชาการ เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์

นอกจากนี้ กสร.ยังได้เสนอให้มีการจัดทำแผนการตรวจร่วมตามรอบการตรวจของรฟม. และรฟท. มีคณะทำงานในการติดตามการดำเนินงานด้านความปลอดภัยในการทำงาน หากมีอุบัติเหตุร้ายแรงให้จัดประชุมร่วมโดยเร็วเพื่อวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข จัดให้มีคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านความปลอดภัยในการทำงานมาบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของรฟม.และรฟท. และให้ทุกหน่วยงานเข้มงวดกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมอุบัติเหตุ ในงานก่อสร้างของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2543 อย่างเคร่งครัด