ครึ่งศตวรรษยานยนต์ไทย กับทิศทางในอนาคต(จบ)

26 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
บทความ ครึ่งศตวรรษยานยนต์ไทยกับทิศทางในอนาคต (1) ฉบับก่อนกล่าวถึงพัฒนาการรถยนต์ระยะแรกเรื่องการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และระยะที่ 2 การส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ

พัฒนาการระยะที่ 3 “การเปิดเสรีการค้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ (2534-2542)” แนวโน้มการค้าเสรีทั่วโลก ภาครัฐเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็งมากพอ จึงประกาศปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ โดยลดภาษีนำเข้ารถยนต์ที่นำชิ้นส่วนแบบน็อกดาวน์มาประกอบในไทย ยกเลิกการห้ามนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (CBU) เพื่อเตรียมรองรับการเปิดนโยบายการค้าเสรีที่เริ่มมีอิทธิพลต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ผลที่ตามมามีผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ตะวันตกสนใจที่จะลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทย

นอกจากนี้ผู้ผลิตรายเดิมก็มีการขยายโรงงานไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้นก่อให้เกิดการกระจายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งในเวลานั้น ไทยเริ่มมีการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศได้บ้างแล้ว

พัฒนาการระยะที่ 4“มุ่งเน้นการศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกรถยนต์ของเอเชีย (Automotive Hub of Asia) (2543 จนถึงปัจจุบัน)” เป็นช่วงที่ไทยตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นผู้ผลิตอันที่ 10 ของโลกซึ่งสามารถบรรลุเป้าดังกล่าวได้ในปี 2555 ด้วยอดการผลิตรถยนต์กว่า 2 ล้านคัน โดยมี Product Champion ที่สำคัญคือ Pick Up one-ton เป็นตัวหลัก และ Eco Car เป็นตัวรอง

การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า “กว่าจะมามีวันนี้ได้ กว่าครึ่งศตวรรษได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก” จากจุดเริ่มต้นส่งเสริมให้เกิดผลิตเองในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า แล้วพัฒนาสร้างอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ จากนั้นก็พัฒนาไปสู่การเปิดการค้าเสรี ด้วยการส่งเสริมการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตระดับโลก

[caption id="attachment_153868" align="aligncenter" width="503"] ครึ่งศตวรรษยานยนต์ไทย กับทิศทางในอนาคต(จบ) ครึ่งศตวรรษยานยนต์ไทย กับทิศทางในอนาคต(จบ)[/caption]

สำหรับทิศทางการพัฒนาต่อไปในอนาคต ภาครัฐได้เล็งเห็นว่า “อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยคงไม่หยุดอยู่เพียงแค่นี้” จะต้องพัฒนาต่อไป ด้วยการมุ่งไปสู่การเป็น “ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคต” ด้วยการใช้นโยบายส่งเสริมการลงทุนผ่านการอนุมัติการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle: HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) โดยการผลิตรถยนต์ประเภท HEV จะต้องยื่นขอส่งเสริมการลงทุนก่อนสิ้นปี 2560 และรถยนต์ประเภท PHEV และ BEV จะต้องยื่นขอส่งเสริมภายในสิ้นปี 2561

ดังนั้นการก้าวไปสู่ฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้น จำเป็นต้องนำบทเรียนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์กว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเป็นโมเดลการพัฒนาการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระยะต่อไป ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ แน่นอนว่าการพัฒนาไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ จะก่อให้เกิดโอกาสการพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ใหม่ๆ ขึ้น อาทิ การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตระบบควบคุมการขับขี่ด้วยไฟฟ้า การผลิต Traction Motor (ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการขับเคลื่อนรถยนต์) ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเดิมที่ยังพออยู่ได้ในซับพลายเชนรถยนต์ไฟฟ้าได้คือ ชิ้นส่วนช่วงล่าง ตัวถัง ระบบส่องสว่าง อุปกรณ์ภายในรถ เนื่องจากสามารถเชื่อมต่อกับสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้

แต่ทว่า “เทคโนโลยีที่มากับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านี้ถือเป็น Disruptive Technology” กล่าวคือ ถ้าเกิดขึ้นจะกระทบเทคโนโลยีแบบเดิม ซึ่งเทคโนโลยีเดิมที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์คือ เทคโนโลยีระบบเครื่องส่งกำลัง (Power Engine) โดยหากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าติดลมบนสามารถทำการตลาดภายใต้ต้นทุนที่ไม่สูงนัก จะทำให้ความต้องการชิ้นส่วนในกลุ่มเครื่องส่งกำลัง อาทิ หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ระบบจ่ายน้ำมัน ถังน้ำมัน ระบบจุดระเบิด เกียร์ ลดลง ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตามหากประเมินโอกาสความสำเร็จของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยที่ 1 ทิศทางความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของโลกว่าจะผู้บริโภคจะหันมาใช้มากน้อยเพียงใด ปัจจัยที่ 2ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาลงทุนอย่างไรในไทย มีแรงจูงใจมากพอหรือไม่ และปัจจัย 3 ผู้ผลิตชิ้นส่วนในไทยมีความพร้อมแค่ไหนสำหรับการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า นั่นคือ ปัจจัยความสำเร็จของรถยนต์ไฟฟ้าไทย

ทั้งนี้แม้ว่าการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะยังไม่เห็นเป็นผลสำเร็จอย่างเป็นกอบเป็นกำได้ในระยะ 5-10 ปีหลังจากนี้ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเตรียมความพร้อมในหลายๆ ด้าน เช่น ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูงอยู่เมื่อเทียบกับรถยนต์เครื่องส่งกำลัง สถานีปั๊มชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ที่อยู่ในช่วงการลงทุนเริ่มต้นกว่าจะครอบคลุมทั่วประเทศต้องใช้เวลายาวนาน และความพอเพียงของปริมาณไฟฟ้าของประเทศในอนาคตหากมีการใช้ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์มากขึ้น

ดังนั้นยังพอมีเวลาสำหรับการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเดิมในการพัฒนาต่อยอดการผลิตไปอยู่ในซับพลายเชนของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่นี้ เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการและภาครัฐต้องเร่งคุยกัน

- ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้ เป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของ TMB Bank แต่อย่างใด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560