ผันน้ำกัมพูชาป้อน‘อีอีซี’ กฟผ.จ่อเซ็นMOUเขื่อนสตึงมนัม-สร้างเสร็จปี2566

26 พ.ค. 2560 | 09:00 น.
รัฐบาลปลุกผีเขื่อนสตึงมนัม ในกัมพูชา มอบกฟผ.ลงนามเอ็มโอยูกับ SMH ศึกษาความเป็นไปได้ ได้ประโยชน์ทั้งไฟและนํ้าป้อนให้อีอีซีค่าไฟที่รับซื้อไม่เกิน 10.75 บาทต่อหน่วย รวมนํ้าฟรี

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2543 ทางรัฐบาลไทยและกัมพูชาได้ลงนามเอ็มโอยู ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างทั้ง 2 ประเทศ แต่การดำเนินงานดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าจนมาถึงเดือนตุลาคม 2559 ฝ่ายไทยและกัมพูชามีข้อตกลงกันที่จะสนับสนุนการพัฒนาโครงการเขื่อนพลังนํ้าสตึงมนัมขึ้นมา และหลังจากนั้นในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลกัมพูชาได้มีหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน แจ้งว่ารัฐบาลกัมพูชาได้ให้สิทธิ์บริษัท Steung Meteuk Hydropower หรือ SMH เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมขึ้นมา

ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีมติรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงาน และมอบหมายให้คณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (กนช.) กรมทรัพยากรนํ้า(ทน.) และกรมชลประทาน ประสานกับกระทรวงพลังงาน เพื่อวางแผนในการนำนํ้าจากโครงการดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคตะวันออก และช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาเสนอทางเลือกที่ 1 ของโรงไฟฟ้าจะอยู่ทางฝั่งกัมพูชาตรงข้ามจังหวัดตราดและทางกัมพูชาจะไม่คิดค่านํ้า และมอบหมายให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไปร่วมพัฒนาโครงการ

ล่าสุดในการประชุมกพช.เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมจึงเห็นชอบในร่างบันทึกความเข้าใจหรือเอ็มโอยู ที่จัดทำขึ้นระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และ SMH แล้ว

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าสตึงมนัม ที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งจะใช้บริษัทกฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (กฟผ.อินเตอร์ฯ) เข้าไปร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ล่าสุดได้สั่งการให้ กฟผ.ในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าเข้าไปเจรจา ซึ่งทางไทยมีความพร้อมที่จะร่วมลงทุนและรับซื้อไฟฟ้า แต่ขณะนี้ยังรอความชัดเจนจากทางกัมพูชาว่าจะเลือกแนวทางการลงทุนรูปแบบใดที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

โดยโครงการสตึงมนัมเป็นโรงไฟฟ้าขนาดไม่ใหญ่นัก อยู่ที่กว่า 24เมกะวัตต์เท่านั้น แต่นอกเหนือจากไฟฟ้าที่จะป้อนเข้ามาในประเทศไทยแล้ว สิ่งสำคัญคือนํ้าที่จะผันมาฝั่งไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เปิดเผยว่า ในการพิจารณาร่างเอ็มโอยูของกพช.เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระหว่างกฟผ.กับ SMH นั้น จะเป็นการแสดงเจตจำนงในการดำเนินโครงการของทั้ง2 ฝ่าย โดยจะร่วมกันศึกษาในรายละเอียด และศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเทคนิค พาณิชย์ การเงิน กฎหมายการขายไฟฟ้า และการเชื่อมโยงระบบส่ง ให้สอดคล้องกับสายส่งของไทย

โดยสัญญารับซื้อไฟฟ้า(พีพีเอ)จะมีอายุ 50 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยอาจมีการต่อสัญญาได้หากทั้ง 2 ฝ่ายและรัฐบาลกัมพูชาให้ความเห็นชอบ ซึ่งผู้พัฒนาโครงการ จะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ในปริมาณ24 เมกะวัตต์ คิดเป็นปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่รับซื้ออยู่ที่ 105.6 ล้านหน่วยและส่งนํ้าให้ไทยระหว่างเดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ของทุกปี ในปริมาณเฉลี่ย 300 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยคิดอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการสูงสุดไม่เกิน 10.75 บาทต่อหน่วย แต่การที่กฟผ.จะรับซื้อต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า โครงการต้องส่งนํ้ามายังไทยโดยไม่คิดค่านํ้า เนื่องจากเป็นความร่วมมือในการใช้นํ้าบริเวณชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชา หากการเจรจาได้ข้อยุติคาดว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าได้เดือนพฤศจิกายน 2566

ส่วนการผันนํ้ามาเพื่อรองรับความต้องการใช้นํ้าในพื้นที่อีอีซีนั้น ทางทน.จะเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดแนวทางการผันนํ้าให้เสร็จภายใน 6เดือน และมอบหมายให้กรมชลประทานเตรียมศึกษาแนวเส้นทางก่อสร้างระบบท่อส่งนํ้าที่จะนำนํ้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีอีซีและจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560