ธุรกิจรถเช่าเนื้อหอม ดีลเลอร์แห่ลงขันชิงแชร์กว่า 4 หมื่นล้าน

27 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
ดีลเลอร์รถยนต์สบช่องธุรกิจท่องเที่ยวโตแห่เปิดแบรนด์รถเช่าระยะสั้น มั่นใจได้เปรียบเรื่องราคา-ต้นทุนการประกอบธุรกิจ พร้อมชูประสบการณ์ด้านบริการหลังการขายเหนือผู้เล่นทั่วไป

ธุรกิจรถเช่าของประเทศไทยที่มีมูลค่าประมาณ 46,900 ล้านบาทในปี 2558 และเติบโตเฉลี่ยปีละ 5% ส่งผลให้ธุรกิจนี้หอมหวนชวนให้ผู้เล่นทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้ามารุมแย่งเค้ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้จำหน่ายรถยนต์หรือดีลเลอร์ที่มีสายป่านรถใหม่รองรับหรือสร้างความเข้มแข็งต่อยอดกันได้ ขณะที่บางรายเคยทำรถเช่าระยะยาวมาก่อน ก็หันมาจับธุรกิจรถเช่าระยะสั้นมากขึ้น

ทั้งนี้การเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ ถือว่าได้เปรียบจากการสั่งซื้อรถในจำนวนมาก (ฟลีต) ซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษจากการสั่งตรงจากบริษัทแม่ หรือหากซื้อแบรนด์อื่นก็จะดีลในราคาที่ดีที่สุด ขณะเดียวกันยังมีความสามารถด้านบริการหลังการขายเป็นทุนเดิม รถจึงมีสภาพดีพร้อมใช้งาน

อย่าง“พระราม 3กรุ๊ป” ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ฮอนด้ารายใหญ่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เปิดแบรนด์“ชิคคาร์เร้นท์ (Chic CarRent)” เจาะกลุ่มรถเช่าระยะสั้น ได้ 3-4 ปี ถือว่าได้การตอบรับดีพอสมควร

“ตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามทิศทางของธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศประกอบกับธุรกิจสายการบินต้นทุนตํ่า หรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคจะเลือกบินแล้วเช่ารถเพื่อท่องเที่ยวต่อ” นายเกียรติ ตั้งตรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทพระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้าจำกัด กล่าวและว่า

ขณะที่แผนงานของ“ชิคคาร์เร้นท์เตรียมงบประมาณ 200 ล้านบาทในการขยายสาขา จากปัจจุบัน 11แห่ง ในไตรมาส 4 จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง และจำนวนรถจากปัจจุบันที่มี 700 คัน จะเพิ่มอีก 250 คัน นอกจากนั้นแล้วจะพัฒนาแอพพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ง่าย

“ปัจจุบันมีรถเช่าแบ่งออกเป็นระยะสั้น 40% และระยะยาว 60 % คาดว่าภายใน2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนระยะสั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% และระยะยาว 30% ส่วนรายได้ในปี 2559 เราทำได้ 180 ล้านบาท ด้านเป้าหมายในปี 2560 คาดว่าจะทำได้ 380 ล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 30% ซึ่งถือว่าเราพึงพอใจเพราะเราเป็นน้องใหม่ในตลาด โดยเราคาดว่าอีก 2-3ปี ข้างหน้าเราจะเปิดสาขาครบทุกสนามบินหลักและสนามบินรองที่มีกว่า 17-18แห่งทั่วประเทศ”

ค่ายที่เพิ่งประกาศแผนบุกรถเช่าระยะสั้นเมื่อปีที่ผ่านมาคือโตโยต้า แอทยูไนเต็ด ที่เปิด เอแซป (ASAP)ภายใต้ชื่อบริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์จำกัด (มหาชน)

“การเป็นดีลเลอร์รถยนต์อยู่แล้วทำให้เราสามารถกำหนดซัพพลายได้ และต้นทุนด้านราคาก็จะได้เปรียบผู้เล่นรายอื่นๆ” นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติคออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด(มหาชน) กล่าวและว่า

ปัจจุบันเอแซป มีสาขาให้บริการ 6 แห่ง และภายในสิ้นปี 2560 จะเปิดครบ 10 แห่ง ขณะที่แผนงานในปี 2561 จะเพิ่มอีก 4 -5 แห่งด้านพอร์ตรถในมือมีจำนวน 9,000 คัน รองรับทั้งรถเช่าระยะสั้นและระยะยาว

“เรามีประสบการณ์ในรถเช่าระยะยาวมายาวนานจึงนำทุกกระบวนการมาปรับแผนเพื่อรุกในกลุ่มระยะสั้นนอกจากนั้นแล้วเรามีการศึกษานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อนำมาใช้ ล่าสุดเราเตรียมจะเปิดบริการรถเช่าที่คิดเรตการใช้งานตามจริง หรือคิดตามระยะทาง, คิดเป็นรายชั่วโมงโดยได้จับมือกับสตาร์ตอัพในการพัฒนาแอพพลิเคชันดังกล่าว คาดว่าจะเปิดให้บริการเร็วๆนี้”

ด้านค่ายเอ็มจีซี-เอเชียที่มีแบรนด์รถเช่าได้แก่ มาสเตอร์คาร์เร้นท์เทิล สำหรับรถเช่าระยะยาว และ ซิกท์รถเช่าระยะสั้น ก็ชูความแข็งแกร่งด้านรถที่มีความหลากหลาย เพราะเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ทั้งฮอนด้า,นิสสัน และบีเอ็มดับเบิลยูมินิ ปัจจุบันมีรถในพอร์ตกว่า 6,000 คัน และมีสาขา12แห่ง และเปิดสาขาที่ประเทศลาว มาเลเซีย และเวียดนามในเร็วๆนี้

รถเช่าอีกหนึ่งแบรนด์คือไทยเร้นท์อะคาร์ ที่มีบริษัทในเครือจำหน่ายรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ภายใต้ชื่อสตาร์แฟลก มีรถในพอร์ตกว่า 8,000 คัน และมีรถให้บริการรองรับทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่อีโคคาร์, เมอร์เซเดส-เบนซ์, เวสป้า ใช้กลยุทธ์ราคา อาทิ 499 บาทและจับมือกับพันธมิตรทั้งสายการบิน,บัตรเครดิต

ขณะที่เคคาร์ หรือบริษัทกรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ลีส จำกัด (มหาชน) ที่มีธุรกิจขายรถใหม่ โตโยต้า กรุงไทยและนิสสัน กรุงไทย มีรถในพอร์ต 7,000 คัน อย่างไรก็ดีแผนการตลาดจะเน้นไปที่กลุ่มรถเช่าระยะยาว มากกว่าระยะสั้น และชูกลยุทธ์ราคาและบริการเป็นหลัก

เรียกได้ว่าโอกาสทางการตลาดเปิดกว้าง และเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่คาดว่าจะมีอีกหลายรายกระโดดเข้ามาเล่น ขณะที่ผู้เล่นที่มีอยู่แล้วก็ต้องมีการงัดกลยุทธ์ ทั้งจำนวนรถ ราคา จำนวนสาขาและการบริการหลังการขายออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560