‘ประนีประนอม’ ขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย

27 พ.ค. 2560 | 01:00 น.
เมื่อปีที่แล้ว บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ TICON ผู้ดำเนินธุรกิจก่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปเพื่อให้เช่า และเพื่อขาย มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นครั้งใหญ่ ทำให้โมเดลธุรกิจบางส่วนมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต พร้อมทั้งมีการแต่งตั้งซีอีโอคนใหม่ "วีรพันธ์ พูลเกษ" ขึ้นมานั่งทำหน้าที่บริหาร ท่ามกลางการควบรวมธุรกิจ ที่มีบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT บริษัทในเครือของเจ้าสัว เจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทคอน

การเข้ามานั่งทำหน้าที่ซีอีโอตรงนี้ "วีรพันธ์" มองว่า ความท้าทายไม่ได้อยู่เพียงแค่การควบรวมกิจการ หรือการมีคนใหม่เข้ามาร่วมบริหารเท่านั้น แต่ขณะที่องค์กรต้องมีการปรับเปลี่ยนภายใน ในแง่ธุกิจก็ต้องมีการเติบโตและขับเคลื่อนไปข้างหน้า ท่ามกลางอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว "Internet of Things" หรือ "IoT" เข้ามามีบทบาท ทำให้รูปแบบการบริหารธุรกิจหลายๆ อย่างต้องปรับเปลี่ยนตามให้ทัน

ในส่วนของการควบรวม ซีอีโอท่านนี้มองว่า แน่นอนคือ ต้องมีการปรับตัว เมื่อก่อนไทคอนเคยทำแต่โรงงานที่เป็น Ready Buite Factory ขณะที่บริษัทร่วมทุน มีโมเดลธุรกิจจากออสเตรเลีย ที่ทำแต่โรงงาน Buite to suite หรือแบบที่สร้างตามสเปคลูกค้า แบบเดิมจะสร้างเสร็จแล้วหาคนมาเช่า แต่แบบหลัง คือมีคนเช่าแล้วจึงสร้าง ตรงนี้ก็ต้องมาพูดคุยกันว่า โมเดลแบบไหนจะเหมาะกับตลาดในแต่ละที่ที่ไทคอนจะเดินหน้าบุก แต่ละตลาดมีความต้องการที่แตกต่างกันไป ซึ่งปีนี้ เป้าหมายของไทคอนคือ นอกจากขยายตลาดในไทยแล้ว ก็ยังมีตลาดซีแอลเอ็มวี ที่เตรียมรุกเต็มที่

[caption id="attachment_153412" align="aligncenter" width="503"] วีรพันธ์ พูลเกษ วีรพันธ์ พูลเกษ[/caption]

"การปรับแนวการทำธุรกิจ เขาก็มาดูงานของเรา ตอนนี้เป็นช่วงของการศึกษากันและกัน ประเทศไทย ที่เราทำ Ready Buite Factory เพราะเหมาะกับการเติบโตของประเทศช่วง 20 ปีที่ผ่านมา occupancy rate (อัตราการเช่า) ของเรา 95% มาตลอด แต่มาช่วงนี้ Ready Buite Factory จะดีหรือเปล่า ก็คงมีไซเคิลขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งคงไม่เหมือนแต่ก่อน แต่เรื่องของแวร์เฮ้าส์ เฟรเซอร์ฯ มองว่าไทยคือศูนย์กลาง บริษัทใหญ่ๆ ก็อยากใช้ไทยเป็นเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้า เพราะฉะนั้น Buite to suite warehouse จะเข้ามามีบทบาทในไทยเยอะขึ้น อย่างเช่น ได้ข่าวว่า อาลีบาบา จะมาเมืองไทย และใช้ไทยเป็นฐานกระจายสินค้า เป็นต้น"

ในแง่การบริหารคน ทางออสเตรเลียมีระบบการบริหารภายในที่ดี ตรงนี้ก็อาจนำเข้ามาปรับใช้ เพราะองค์กรต้องมีการพัฒนาบุคลากรต่อเนื่อง ทุกอย่างต้องมีการปรับจูน สิ่งสำคัญคือการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการร่วมกันคิด ร่วมกันถกปัญหา บางส่วนอาจมีการเปลี่ยนแปลงบ้างตามความเหมาะสม

"ทุกอย่างที่เขาทำมาในออสเตรเลีย ไม่ใช่เหมาะกับคนไทยทั้งหมด ผมยอมรับว่าระบบการบริหารของเขาดี และมี business process management ที่ดี เพราะฉะนั้น เราก็เรียนรู้จากสิ่งดีๆ เขามีระบบไอทีที่ดีกว่าเรา เขาใช้ระบบในการบริหารมากกว่าใช้คน แต่เมื่อมาบ้านเรา ก็ต้องบาลานซ์กัน"

"วีรพันธ์" เล่าว่า เขาทำหน้าที่คล้ายๆ คนกลาง ซึ่งไม่ใช่ความลำบาก แต่เป็นความสนุก ที่จะต้องทำให้ความคิดระหว่างคนเก่าและคนใหม่ การบริหารแบบเดิม จะเน้นที่ Top Down จากบนสู่ล่าง แต่การบริหารแบบใหม่ จะเป็น Bottom Up รับฟังความคิดเห็นของทีมงาน ทั้ง 2 รูปแบบต้องบาลานซ์กันให้ได้ เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างกำลังเดินหน้าไปด้วยดี การกำหนดทิศทางการบริหารและการดำเนินธุรกิจจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤษภาคมนี้

"จริงๆ ผมว่าแบบใหม่ ที่เป็นแบบ Bottom Up จะทำให้บริษัทขยายกิจการได้ดีขึ้น เพราะมันจะมาจากข้อมูลด้านล่าง เพราะฉะนั้นทุกคน ก็ต้องมีความรู้เกี่ยวคู่แข่ง และรอบด้าน พอที่จะเสนอขึ้นมาข้างบนได้ ในการที่จะขยายก็จะทำให้คนมีการเรียนรู้ได้ดีกว่า"

จากเป้าหมายของไทคอน ที่ตั้งเป้าให้องค์กร เป็นหนึ่งในอาเซียนด้าน Industrial Propertry Solutions ที่เน้นด้านแวร์เฮ้าส์มากขึ้น พร้อมกับดึงจุดแข็งจากการรวมตัวของ 3 ผู้ถือหุ้นใหญ่ ทั้ง เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทในเครือ เจริญ สิริวัฒนภักดี กลุ่มซิตี้ วิลล่า ของชาลี โสภณพนิช และกลุ่มโรจนะ ทำให้เป็นกลุ่มทุนที่แข็งแกร่งมีแลนด์แบงค์อยู่หลายพันไร่ทั่วประเทศ เมื่อผนวกเข้ากับแนวการบริหารของซีอีโอคนนี้ ที่มีความประนีประนอม (Compromise) ทำหน้าที่ปรับจูนความคิดของคนเก่าคนใหม่ และบาลานซ์รูปแบบการบริหารให้เหมาะสม เพราะฉะนั้น เป้าหมายตรงหน้า จึงไม่ใช่เรื่องยากเลย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560