ลาวมั่นใจพัฒนาระบบราง ช่วยลดต้นทุนขนส่งสินค้าก้าวข้ามสถานะแลนด์ล็อก

27 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
ลาวเร่งพัฒนาการขนส่งระบบรางทั่วประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าที่ประเมินว่าจะทำให้สามารถลดต้นทุนขนส่งลงได้ 30-50% เมื่อเทียบกับต้นทุนการขนส่งด้วยรถบรรทุก

ในส่วนของรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างไทยและลาวนั้น ผู้บริหารของกรมการรถไฟลาวให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ เดลี่ ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้มีการทำพิธีส่งมอบลานตู้คอนเทนเนอร์หรือตู้สินค้า ขนาดพื้นที่กว่า 38,000 ตารางเมตรและอาคารอื่นๆ ของสถานีรถไฟท่านาแล้ง ในนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือการก่อสร้างทางรถไฟลาว-ไทยขั้นที่ 2 ส่วนที่ 1

นายโสนะสัก นันสะนะรองอธิบดีกรมการรถไฟลาว ระบุว่า เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับการเดินรถไฟสินค้าระหว่างทั้ง 2ประเทศ จะมีการติดตั้งระบบ single-window inspections ystem ซึ่งเป็นการตรวจปล่อยสินค้าในบริเวณเดียวกันสำหรับการตรวจสอบสินค้าที่ขนส่งทางรถไฟข้ามชายแดน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและช่วยร่นระยะเวลาการขนส่งสินค้าด้วย ทั้งหมดนี้เป็นแผนการที่จะเกิดขึ้นในเร็ววัน “การขนส่งสินค้าทางรถไฟจะทำให้การขนส่งเร็วขึ้นและมีต้นทุนถูกลง” รองอธิบดีกรมการรถไฟลาวกล่าว

ทั้งนี้ การเพิ่มสมรรถนะของสถานีรถไฟท่านาแล้งทางด้านการขนส่งสินค้าทางรางนั้น จะครอบคลุมถึงการจัดตั้งศูนย์เก็บและกระจายตู้สินค้า เพื่อสอดคล้อกับแผนพัฒนาประเทศของลาวในด้านการเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน และก้าวข้ามการเป็นประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดชายทะเล (landlockedcountry) นอกจากนี้ แผนพัฒนาระบบรางภายในประเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่จะก่อให้เกิดกระแสการค้าและการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและลดต้นทุนการขนส่งภายในประเทศ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมารัฐบาลลาวได้ประกาศแผนสร้างเส้นทางรถไฟหลายเส้นทางที่จะเชื่อมโยงทางรถไฟของลาวที่มีอยู่เข้ากับเส้นทางรถไฟของประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันมีเพียงเส้นทางรถไฟระยะทาง 3.5 กิโลเมตรเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาวกับประเทศไทยทางจังหวัดหนองคาย และเป็นเพียงขบวนรถไฟขนส่งผู้โดยสารเท่านั้นต้นทุนการขนส่งที่สูงทำให้ผู้ผลิตสินค้าของลาวแข่งขันกับคู่แข่งในประเทศที่มีท่าเรือขนส่ง ได้อย่างยากลำบาก

จากการศึกษาเมื่อปี 2559ขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) พบว่า การขนส่งสินค้าระหว่างเมืองเวียงจันทน์มายังท่าเรือกรุงเทพระยะทาง 640 กิโลเมตรนั้น มีต้นทุนขนส่งตั้งแต่ 1,233 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถึง 2,088 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตู้สินค้า (ขนาด 40 ฟุต) และการขนส่งสินค้าจากเวียงจันทน์(ผ่านท่าเรือกรุงเทพฯ) มายังท่าเรือโยโกฮามาของญี่ปุ่นนั้นต้องใช้จ่ายถึงเกือบๆ 2,500ดอลลาร์ ขณะที่การขนส่งสินค้า(ทางเรือเช่นกัน) จากนิวเดลีประเทศอินเดีย มายังท่าเรือโยโกฮามา มีต้นทุนขนส่งเพียง 1,500 ดอลลาร์เท่านั้น

ในส่วนของการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่างเมืองคุนหมิงในมณฑลยูนนานของจีนกับนครหลวงเวียงจันทน์ของลาวนั้น เป็นโครงการลงทุนมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่ากับ70% ของจีดีพีลาว มีระยะความยาวของเส้นทาง 414 กิโลเมตรการก่อสร้างบริเวณชายแดนจีน-ลาวได้เริ่มขึ้นแล้ว โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ของจีน (The Belt& Road) ที่เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมุ่งลงทิศใต้เชื่อมโยงจีนสู่ลาว ไทย มาเลเซีย ไปจนถึงสิงคโปร์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560