ปตท.แปรรูปรอบ2 รายได้เข้ารัฐเพิ่มแข่งขันเต็มรูปแบบ

26 พ.ค. 2560 | 10:00 น.
การปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่จะโอนกิจการของหน่วยธุรกิจนํ้ามันและค้าปลีกรวมถึงสินทรัพย์และหนี้สินของหน่วยธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าราว1.21 แสนล้านบาท ให้กับบริษัทปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัดหรือพีทีทีโออาร์ โดยปตท.จะยังถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 45% ส่วนที่เหลือจะกระจายหุ้นให้ประชาชนและนักลงทุนนั้น

อาจจะสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับสาธารณชนว่า เมื่อปตท.นำพีทีทีโออาร์กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไรจากการแปรรูปครั้งนี้ เพราะข้อสงสัยดังกล่าวไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นกับประชาชนเท่านั้น แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ก็ยังสงสัย และเสนอขอให้ภาครัฐทบทวนการปรับโครงสร้างธุรกิจของปตท.ครั้งนี้ ใน 3 ประเด็นได้แก่ ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ความกังวลเรื่องทรัพย์สินของชาติจะสูญหายและ สตง.เห็นว่าปตท.ควรจะถือหุ้นในบริษัทลูกเกินกว่า 50%

ข้อสงสัยต่างๆ นี้ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจนํ้ามันบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้ชี้แจงกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการดำเนินงานทุกอย่างได้ผ่านขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ความเห็นของคณะรัฐมนตรี รวมถึงคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเป็นไปอย่างโปร่งใส

มีกฎหมายกำกับดูแล
ไม่ว่าข้อกังวลด้านความมั่นคงทางพลังงาน ภาครัฐมีเครื่องมือทางกฎหมาย และกลไกการกำกับดูแลที่เพียงพอและชัดเจนทั้งด้านปริมาณ จะมีพ.ร.บ.ควบคุมนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542พ.ร.บ.การค้านํ้ามันเชื้อเพลิงพ.ศ.2543 ซึ่งกำหนดปริมาณการสำรองนํ้ามันเชื้อเพลิง มีพ.ร.ก.แก้ไขและป้องกันภาวการณ์ขาดแคลนนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ.2516คอยกำกับ เช่น การห้ามส่งออกหรือมีพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 กำกับดูแลการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนซึ่งพีทีทีโออาร์ ก็ต้องมีหน้าที่สำรองนํ้ามันตามกฎหมายเช่นเดียวกัน

ขณะที่การกำหนดราคาขายปลีกนํ้ามัน ปัจจุบันภาครัฐมีกลไกกำกับดูแล เช่น พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ร่างพ.ร.บ.กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง ที่กำลังจะประกาศออกมาใช้ ซึ่งจะเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคา การสร้างส่วนต่างราคา เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และการบรรเทาผลกระทบจากการปรับราคาสำหรับผู้มีรายได้น้อย

รวมทั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ราคาเพื่อไม่ให้สินค้ามีราคาสูงหรือตํ่าเกินสมควร

ไม่ได้รับยกเว้นภาษีป้าย
อีกทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะโอนคลังนํ้ามันและคลังก๊าซแอลพีจีให้พีทีทีโออาร์ เพื่อการค้าและสำรองนํ้ามันเช่นเดียวกับผู้ค้ามาตรา 7 รายอื่นๆ ยกเว้นคลังก๊าซแอลพีจีที่เขาบ่อยาและบ้านโรงโป๊ะ จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมต่อโรงแยกก๊าซธรรมชาติจะคงไว้ที่ปตท.เพื่อสนับสนุนนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีของภาครัฐ

ส่วนหน้าที่และสิทธิของปตท.จะยังจำหน่ายนํ้ามันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจหากต้องการใช้สิทธิซื้อด้วยวิธีกรณีพิเศษ รวมถึงการดำเนินในลักษณะการซื้อขายรัฐต่อรัฐ มีหน้าที่ต้องการจัดหานํ้ามันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หากเกิดสภาวะวิกฤติด้านพลังงานและสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)

สำหรับกรณีที่ปตท.ได้รับการยกเว้นภาษีป้ายในปัจจุบันเมื่อมีการโอนทรัพย์สินให้พีทีทีโออาร์แล้ว จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีป้ายอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้พีทีทีโออาร์ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เหนือกว่าผู้ค้านํ้ามันรายอื่นๆ

 สร้างรายได้ให้รัฐเพิ่ม
อีกทั้ง การโอนทรัพย์สินไปยังพีทีทีโออาร์ ไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินของชาติจะสูญหายเนื่องจากพีทีทีโออาร์ จะต้องชำระค่าตอบแทนจากการรับโอนกิจการภายใต้การปรับโครงสร้างดังกว่าให้ปตท. นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างจะทำให้รัฐได้รับมูลค่าเพิ่มจากกำไรที่ปตท.จะได้รับจากการโอนทรัพย์สินไปยังพีทีทีโออาร์ ในรูปของภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจากการโอนทรัพย์สินและการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน และมูลค่าที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่พีทีทีโออาร์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯรวมถึงมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของปตท.

เกิดการแข่งขันเต็มรูปแบบ
ขณะที่สตง.เห็นว่า ปตท.ควรจะถือหุ้นในบริษัทลูกเกินกว่า50% นั้น ที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่มที่ปตท.ถือหุ้น หากบริษัทมีความพร้อม ปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นให้ตํ่ากว่า 50% เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญใหม่ปี 2559 ที่รัฐจะไม่เข้าไปแข่งขันกับเอกชน นอกจากนี้ ภาครัฐมียุทธศาสตร์การลงทุนของประเทศในด้านอื่นๆเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น การที่มีการแข่งขันอย่างเสรี และมีกลไกการกำกับดูแลโดยภาครัฐอย่างชัดเจน และเอกชนสามารถลงทุนแข่งขันกันในตลาดเพียงพอต่อการให้บริการประชาชนอยูแล้ว ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องลงทุนรับซื้อหุ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น

ดังนั้น ด้วยกลไกภาครัฐที่ยังคอยกำกับอยู่ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมและจะก่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเต็มรูปแบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560