ก๊าซอ่าวไทยหาย2ล้านตัน ขู่เจอวิกฤติปี64 รัฐวิ่งวุ่นซื้อแอลเอ็นจี-ไฟฟ้าเสริม

26 พ.ค. 2560 | 03:00 น.
กระทรวงพลังงาน ยันวิกฤติพลังงานเกิดขึ้นในอีก4 ปีข้างหน้า ปริมาณก๊าซขาดแคลน 2 ล้านตันต่อปีเหตุจัดหาก๊าซในอ่าวไทยไม่ทัน โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพาสะดุด จี้รัฐบาลเร่งตัดสินใจภายในปีนี้ขยายคลังแอลเอ็นจี ซื้อก๊าซมาเลเซียมาเสริม และซื้อไฟจากเพื่อนบ้านเพิ่ม

เป็นที่แน่ชัดแล้วในปี 2564ประเทศจะประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงาน โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 15พฤษภาคม ที่ผ่านมา ได้รับทราบถึงวิกฤติที่จะเกิดขึ้นแล้วว่า ปริมาณก๊าซธรรมชาติจะหายไปในช่วงปี2564 ราว 364 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือเทียบเท่าก๊าซแอลเอ็นจี 2.6 ล้านตันต่อปี

เหตุจากการจัดหาก๊าซในอ่าวไทยเกิดความล่าช้า และมีปริมาณน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในแผน เนื่องจากความล่าช้าของการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกช ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ทำให้ผลิตก๊าซได้ไม่ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการเจรจาขอให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)หรือปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในแหล่งก๊าซบงกชเหนือ จะรักษาการผลิตก๊าซขั้นตํ่าไปจนถึงปี 2564 แต่ก็ยังทำให้ก๊าซขาดอยู่ประมาณ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือเทียบเท่าแอลเอ็นจี 2 ล้านตันต่อปี หรือไม่มีก๊าซเพียงพอผลิตไฟฟ้าได้ราว 1,700 เมกะวัตต์

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงานได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแต่ละมาตรการรับมือกับวิกฤติที่จะเกิดขึ้นแล้ว เพื่อให้แนวทางเกิดความชัดเจนหรือตัดสินใจดำเนินการภายในปีนี้

โดยจะต้องเพิ่มความสามารถในการเก็บสำรองก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยขยายคลังแห่งที่ 1 ที่มาบตาพุดจาก11.5 ล้านตันต่อปี เป็น 15 ล้านตันต่อปี และจะต้องเร่งรัดโครงการเรือแอลเอ็นจีลอยนํ้า (FSRU) ในประเทศเมียนมา และต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนใน FSRUที่มาบตาพุดเพิ่มเติม หรือพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ และการจัดหาก๊าซส่วนเพิ่มจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) และจัดซื้อจากทางมาเลเซีย ที่ขณะนีอ้ ยู่ระหว่างการเจรจาอยู่

นอกจากนี้ จะต้องซื้อไฟฟ้าพลังนํ้าจากสปป.ลาวเพิ่มเติมจากสัญญาที่มีอยู่ เช่น ส่วนเพิ่มจากโครงการนํ้าเทิน 1 และส่วนเพิ่มจากโครงการไซยะบุรี รวมทั้ง การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินของบีแอลซีพีในส่วนขยาย โรงไฟฟ้าเกาะกง ของกัมพูชา และโครงการเซกอง ของสปป.ลาวและหากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่ได้ จำเป็นต้องเร่งอนุมัติก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในส่วนขยายโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีก 800เมกะวัตต์ เพื่อมาทดแทน และช่วยลดความเสี่ยงการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางมากเกินไป และอาจจะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีสะอาดในพื้นที่ใหม่เช่น ในอำเภอปานาเระ จังหวัดปัตตานี ขนาดกำลังการผลิต1,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ส่วนมาตรการอื่นๆ เช่นการพิจารณาส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เพื่อลดความต้องใช้ไฟฟ้าในช่วงพีกกลางวัน และต้องนำมาตรการสมัครใจลดใช้ไฟฟ้าหรือดีอาร์ของภาคเอกชนอีก 500เมกะวัตต์ ควบคู่กับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม เพิ่มขึ้นมาใช้ร่วมด้วย ถึงจะสามารถรับมือกับวิกฤติพลังงานที่จะเกิดขึ้นได้

นายประกอบ เอี่ยมสอาดวิศวกรเครื่องกลชำนาญการพิเศษกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า พพ.ได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงพลังงาน ให้ตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณก๊าซที่หายไปในปี2564-2566 เบื้องต้นคาดว่าจะมีกว่า 100 โรงงาน จากนั้นจะรายงานไปยัง สนพ. เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560