ล้งจีนรับเละ! กุมตลาดไทย ฟันกำไร 30%

21 พ.ค. 2560 | 07:04 น.
ตรวจไส้ในส่งออกผลไม้ไทย 5.4 หมื่นล้าน ผลประโยชน์ตกชาวสวน 60% อีก 40% ล้งจีนรับทรัพย์มากสุด นายกชาวสวนผลไม้ตราดชี้ล้งจีนกุมตลาด 80% สัญญาณอันตรายชาวสวนเห็นราคาดีแห่ปลูกทุเรียนเพิ่มดันผลผลิตพุ่ง ราคาหน้าสวนร่วง ด้านเวียดนามหัวใสนำเข้าผลไม้ไทยรีแพ็กเกจส่งออกต่อฟันกำไรงาม

 
จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ระบุในปี 2559 ที่ผ่านมา ไทยมีการส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง มูลค่ากว่า 5.46 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22%(ดูกราฟิกประกอบ) โดยส่งออกไปตลาดจีนมากเป็นอันดับ 1 มูลค่า 1.81 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 33%

 
นายวุฒิพงษ์ รัตนมนต์ ประธานหอการค้า และนายกสมาคมชาวสวนผลไม้จังหวัดตราด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากมูลค่าการส่งออก 5.46 หมื่นล้านบาทดังกล่าว ในข้อเท็จจริงคาดจะมีมูลค่าสูงถึง 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากส่วนหนึ่งของสินค้าได้ส่งออกข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะใต้ดิน(ไม่ผ่านพิธีการศุลกากร)อย่างไรก็ดีจากมูลค่าการส่งออก หากวิเคราะห์ข้อมูลตามปริมาณ และมูลค่าสินค้าแล้วคาดผลประโยชน์จะตกกับเกษตรกรสัดส่วนไม่เกิน 60% (ราว 3.2 หมื่นล้านบาท) ขณะที่อีก 40% เป็นรายได้และกำไรของผู้ค้า ทั้งผู้ประกอบการรับซื้อและคัดบรรจุผลไม้(ล้ง)ที่เป็นของชาวต่างชาติโดยเฉพาะล้งจีนเป็นส่วนใหญ่ รวมถึงพ่อค้าคนกลาง พ่อค้ารายย่อยที่รวบรวมผลผลิตให้ล้งต่างชาติ ล้งไทย ตลอดจนผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกผลไม้

 
“ล้งผลไม้ในตราดมีมากกว่า 100 ล้งในจำนวนนี้ล้งเพื่อส่งออกสัดส่วน 70-80% จะอยู่ในมือของต่างชาติ โดยสัดส่วน 80% ของระบบการค้าจะอยู่ในมือของจีนที่มีเงินทุนสูง”

 
ทั้งนี้แม้ระยะสั้นล้งต่างชาติจะแข่งกันรับซื้อให้ราคาสูงส่งผลดีกับเกษตรกร แต่ห่วงในระยะต่อไปหากระบบการค้าผลไม้ของจังหวัดตราด ถูกครอบงำโดยต่างชาติล้งไทยจะสูญพันธุ์ได้เนื่องจากทุนน้อย ซึ่งรัฐต้องเข้ามาดูแล ขณะที่ราคาผลไม้มีแนวโน้มลดลง จากเกษตรกรเห็นว่าช่วงที่ผ่านมาขายสินค้าได้ราคาดี จึงเพิ่มพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น ผลผลิตเริ่มมีมากขึ้น ตัวอย่างเช่นในจังหวัดตราดช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเกษตรกรได้เพิ่มพื้นที่ปลูกทุเรียนจากเดิม 3-4 เท่าตัว และจากนี้อีก 3-4 ปีผลผลิตทุเรียนของจังหวัดจะเพิ่มขึ้นอีกมากโดยในปี 2559 ผลผลิตทุเรียนของตราดมีประมาณ 1.9 หมื่นตัน ราคาขายส่งหน้าสวนเฉลี่ยได้ 80-90 บาท/กก. แต่ปีนี้คาดผลผลิตจะมีประมาณ 2.7-3 หมื่นตัน ราคาหน้าสวน ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 60-70 บาท/กก. ขณะที่ปลายทางที่จีนบวกราคาเพิ่ม 20-30% จาก 2 ปีก่อนบวกเพิ่มจากราคาต้นทุนประมาณ 1 เท่าตัว จากสินค้าในตลาดมีมาก และมีการแข่งขันสูง

 
สอดคล้องกับนายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี แหล่งปลูกทุเรียนใหญ่สุดของประเทศ ที่ให้ข้อมูลว่า คาดผลผลิตทุเรียนของจังหวัดในปีนี้ กว่า 4 แสนตัน จากปีที่ผ่านมาราว 3 แสนตัน โดยสัดส่วน 75-80% ส่งออกไปจีน เรื่องผลไม้นี้เป็นสินค้าที่ยังมีอนาคต ทำให้รายได้จังหวัดเพิ่มขึ้น แต่ยอมรับมีความกังวลต่างชาติเข้ามาควบคุมระบบการตลาดเช่นกัน ซึ่งการปรับตัวของเกษตรกร คงต้องขอความช่วยเหลือจากภาครัฐในเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีคุณภาพ ผลผลิตสูง การพัฒนาด้านการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรไปทำแมตชิ่งกับคู่ค้าในต่างประเทศโดยตรง

 
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้วิเคราะห์การส่งออกผลไม้ของไทย(ทุเรียน ลำไย มังคุด)ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกไปตลาดเวียดนามเป็นอันดับ 1 แซงหน้าตลาดจีนว่า ส่วนหนึ่งจากเวียดนามนำเข้าไปบรรจุหีบห่อใหม่โดยติดตราเมด อิน เวียดนามเพื่อส่งขายให้จีนที่มีชายแดนติดกัน จากสินค้าทั้ง 3ชนิดเป็นที่นิยมมากในจีน รวมถึงส่งออกไปยังประเทศที่ 3