เลี่ยงภาษีดิวตี้ฟรี! อธิบดีกรมศุลฯสอบ "คิงเพาเวอร์" บอร์ด ทอท. 49 คนหนาว

20 พ.ค. 2560 | 07:41 น.
วันที่ 20 พ.ค.60 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ สื่อในเครือสปริง กรุ๊ปฉบับวางแผงวันนี้รายงานว่า ระทึก! อธิบดีศุลกากรรับลูก สตง.สั่งสอบคิงเพาเวอร์ เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี เลี่ยงภาษีในรูปแบบพรีออร์เดอร์ขายสินค้าขาออกมารับของขาเข้าทำให้รัฐเสียหาย ขีดเส้นสรุปภายใน 60 วัน สปท.เปิดเกมรุกเสนอสอบภาษีย้อนหลังไป 9 ปี

ปมปัญหาในการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ของประเทศ ที่อาจนำไปสู่การยกเลิกสัญญาที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) หรือ AOT ทำไว้กับเอกชนเพียงรายเดียวแต่มีผลประโยชน์ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันอาจนำไปสู่กระบวนชำระสะสางเอาผิดข้าราชการในกรมศุลกากร คณะผู้บริหารบริษัท ท่าอากาศยานไทย ในความผิดโทษฐานเพิกเฉย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้มอบหมายให้ นางภัทรา โชว์ศรี ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน 1 ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ ตผ 0042/1705 ลงวันที่ 21 เมษายน 2560 ไปถึงอธิบดีกรมศุลกากร เพื่อขอให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการภายใน 60 วัน เนื่องจาก สตง.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบร้านค้าปลอดอากรในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วพบว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ดำเนินการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐใน 2 ประเด็น

ประเด็นแรก เอกชนคู่สัญญาปฏิบัติไม่เป็นไปตามกฎหมายศุลกากร โดยมีการส่งเสริมให้นำสินค้าปลอดอากรเข้ามาบริโภคในประเทศ การปฏิบัติดังกล่าวของเอกชน ขัดต่อประกาศของกรมศุลกากร ที่ 20/2549 ที่กำหนดระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบิน เป็นการให้สิทธิแก่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อนำสินค้าปลอดอากรออกไปนอกราชอาณาจักร โดยบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ได้รับอนุญาตให้ขายสินค้าให้กับผู้ที่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ณ ร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินสุวรรณภูมิ ชั้น 4 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของสตง.พบว่า บริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ได้ขายของในลักษณะ Pre-order หรือ ซื้อขายออก-รับขาเข้า โดยผู้ซื้อไม่ได้นำของออกไปนอกราชอาณาจักร แต่กลับเปิดทางให้มารับสินค้าในวันเดินทางถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐาน Sale Daily Report by Airport ที่เกี่ยวข้องกับรายได้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบว่า รายการขายสินค้าปลอดอากรในลักษณะของการขายแบบ Pre-order เป็นการขายของที่ผู้ซื้อชำระค่าสินค้าแล้ว มารับสินค้าในวันเดินทางกลับถึงประเทศไทย

ขณะเดียวกัน เมื่อได้ตรวจสอบเครื่อง Point Of Sale (POS) ณ จุดรับสินค้าสั่งจอง ซึ่งเดิมเรียกว่าจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) บริเวณสายพานรับกระเป๋าที่ 16 ติดกับร้านปลอดอากรขาเข้า ชั้น 2 อาคารผู้โดยสารขาเข้า พบว่าเครื่อง POS ที่ตั้ง ณ จุดดังกล่าว NO.D141 เป็นเครื่องเดียวกับเครื่อง POS ที่ใช้ในการขายแบบ Pre-order ใน Sale Daily Report by Airport

หนังสือของ สตง.ระบุชัดว่า การขายของออกจากร้านค้าปลอดอากรขาออก ที่ไม่ได้มีการนำของออกนอกราชอาณาจักรของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี ซึ่งเป็นผู้ขออนุญาตจัดตั้งร้านปลอดอากรจึงไม่เป็นไปตามประกาศของกรมศุลกากรที่ 20/2549 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2549 ข้อ 6.4 ผู้ซื้อต้องนำของออกนอกราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าว จึงเป็นการซื้อเพื่อนำเข้ามาบริโภคภายในประเทศ ซึ่งต้องเสียภาษีอากร

ทั้งนี้ จากการสุ่มตรวจสอบการขายแบบ Pre-order ตามรายงาน Sale Daily Report by Airport จำนวน 3 เดือนพบว่า มียอดขายรวม 3 หมื่นรายการเศษ มูลค่าการซื้อขายรวม 164.66 ล้านบาท ซึ่งสินค้าดังกล่าวจะต้องเสียภาษีอากรตามประเภทสินค้าทั้ง อากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการคำนวณเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวโดยไม่นำภาษีอื่นมารวมสินค้าที่ขายออกไปจะต้องเสียภาษีให้รัฐรวม 11.5 ล้านบาท

ประเด็นที่สอง บริษัท คิงเพาเวอร์ฯกำหนดให้มีจุดส่งมอสินค้า(Pick-up Counter) ของร้านค้าปลอดอากรขาออกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งตามประกาศกรมศุลกากรที่ 20/2549 ข้อ 6.3.3(2) กำหนดให้ร้านค้าปลอดอากรขาออกในเมืองมีจุดส่งมอบสินค้าโดยได้รับความเห็นชอบจากกรมศุลกากร สำหรับร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินไม่มีกำหนดจุดส่งมอบสินค้า

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบการขายสินค้าปลอดอากรของบริษัทคิงเพาเวอร์ฯของสตง.พบว่า มีการขายแบบซื้อขาออก-รับขาเข้า (Pre-order) โดย กำหนดจุดส่งมอบสินค้า เพื่อให้ผู้ซื้อมารับสินค้าในวันเดินทางกลับถึงประเทศไทยบริเวณสะพานรับกระเป๋าชั้น 2 ซึ่งไม่ได้กำหนดให้มีจุดส่งมอบสินค้า การกระทำดังกล่าวจึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการกำหนดจุดส่งมอบสินค้าในสนามบินที่กำหนดให้เฉพาะร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่มีจุดส่งมอบสินค้า จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีกฎหมายรองรับ
นอกจากนี้จากการเฝ้าสังเกตุของ สตง.ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 พบว่า จุดส่งมอบสินค้า (Pickup Counter) ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นจุดรับสินค้าสั่งจอง (Collection Point) และเป็นการตอกยํ้าว่าเป็นการซื้อขาออกมารับของที่ขาเข้าแล้วนำมาบริโภคภายในประเทศ

ดังนั้น ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 ขอให้อธิบดีกรมศุลกากร พิจารณาดำเนินการตรวจสอบบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ที่ดำเนินกิจการร้านค้าปลอดอากรขาออกในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ขายสินค้าให้ผู้ซื้อ แต่ไม่ได้นำสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร โดยการขายแบบ Pre-order ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกันให้กรมศุลกากรดำเนินการขยายผล จากการตรวจสอบของ สตง. และเรียกเก็บภาษีอากรพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จากการขายแบบ Pre-order ทั้งหมดให้ครบถ้วน จากบริษัท คิงเพาเวอร์ฯ ที่ดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินสุวรรณภูมิ และตรวจสอบเพิ่มเติมในส่วนของสนามบินภูมิภาค หากพบว่ามีการดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ก็ให้ดำเนินการเรียกเก็บภาษีอากรให้ครบถ้วน และรายงานแจ้งผลการตรวจสอบ และแจ้งเรียกเก็บภาษีอากร พร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบโดยด่วน

นอกจากนี้ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีดำเนินการร้านค้าปลอดอากรขาออกในสนามบินขายสินค้า โดยไม่ได้มีการนำของออกไปนอกราชอาณาจักรจริง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายทั้งทางอาญา และแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งบริษัท คิงเพาเวอร์ฯและเจ้าหน้าที่
นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ได้รับหนังสือจากสตง.เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านนม และได้สั่งการให้ตั้งกรรมการตรวจสอบตามข้อสั่งการของสตง.แล้ว คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเวลาที่ สตง.กำหนดภายใน 60 วัน

“ยังบอกไม่ได้ว่าจะสอบใครบ้าง แต่เรื่องนี้ เราไม่ได้ละเลย ซึ่งผมได้สั่งให้ดำเนินการแล้ว แต่ตอนนี้ยังบอกอะไรมากไม่ได้”

พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประ พฤติมิชอบ สปท. เมื่อวันที่ 19 พ.ค.60 ที่ประชุมเสนอว่า สตง.ควรขอเอกสารเพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ย้อนหลังเป็นเวลา 9 ปี

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้ติดต่อสอบถามนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ทอท. แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ จึงได้ส่งคำถามไปทางไลน์ ขณะที่นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ประธานกรรมการ ทอท. ไม่สะดวกในการชี้แจงเรื่องดังกล่าว

นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ รองประธานอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตราการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เปิดเผยว่า อนุกรรมาธิการฯมีรายชื่อบอร์ด ทอท. 3 ชุด 49 คน ที่กำลังตรวจสอบว่า มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่เคยเป็นบอร์ด ทอท.

ประเด็นที่สอบมี 2 ประเด็น 1. กรณีสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรและร้านค้าเชิงพาณิชย์ ไม่ปฏิบัติตามสัญญา พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2. การได้มาซึ่งสัญญา การบริหารสัญญา ที่ปฏิบัติโดยมิชอบ คณะอนุกรรมาธิการฯ จะทำรายงานให้เสร็จก่อน 24 พ.ค. เพื่อเสนอ นายกรัฐมนตรี

ผู้ที่ถูกตรวจสอบ อาทิเช่นพล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา อดีต ผบ.ทอ.และอดีตรมว.มหาดไทย พล.ต.อ.ธวัชชัย ภัยลี้ อดีต รองผบ.ตร.,นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน,นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย นายสามารถ ยลภักดิ์ ,นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ อดีตผอ.สำนักงบ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี,นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ อดีตอธิการบดี นิด้า,นายบัญชา ปัตตนาภรณ์ อดีตรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท.

นายวิชัย (รักศรีอักษร) ศรีวัฒนประภา, นายสมบัติ เดชาพาณิชกุล รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์, นายสิงหเทพ เทพกาญจนา, นายสมชัย สวัสดิ์ผล อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ,นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, นายเทอดศักดิ์ เศรษฐมานพ อดีตรองปลัดกระทรวงคมนาคม เรืออากาศเอก อุตส่าห์ บริสุทธิ์ ศ.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย