ทริสใช้ไฮเทคจัดเรตติ้ง ขอเวลาพัฒนาระบบอัตโนมัติคาด3-5ปีงานเสร็จเร็วเท่าตัว

23 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
ทริสเรทติ้งยุค 4.0 ศึกษางานของอินเดียมาเขียนโปรแกรม สร้างระบบจัดอันดับเครดิตอัตโนมัติ เพิ่มคุณภาพ เพิ่มปริมาณงานเท่าตัว จาก 10 เคส/ปีเพิ่มเป็น20 เคส รองรับภาคเอกชนแห่ออกหุ้นกู้จำนวนมาก

นางสาววัฒนา ถิรานุชิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้งฯ เปิดเผยว่า สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก แสตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือเอสแอนด์พี เข้ามาถือหุ้นบริษัทฯเมื่อกลางปี 2559 ที่ผ่านมา จำนวน 49% และส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ 1 คน เป็นคนอินเดีย ทำให้ทริสมีโอกาสในการเรียนรู้ โนว์ฮาว ความรู้ ความชำนาญ รวมถึงมีบริษัทจัดอันดับเครดิตหลายแห่งที่เข้าไปลงทุนด้วย หนึ่งในนั้นเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตใหญ่ที่สุดของอินเดียในเครือเอสแอนด์พีเก่งมากในเรื่องของระบบอัตโนมัติ(Automation) มีข้อมูล มีนักวิเคราะห์เก่งและมีประสิทธิภาพสูง โดยใช้เวลาในการพัฒนาโปรแกรมมานานถึง 10 ปี ถึงจะมีประสิทธิภาพสูงในขณะนี้ คือ รับลูกค้าได้ 70-100 เคส/ปี ระบบช่วยให้นักวิเคราะห์สามารถดูแลลูกค้าได้เพิ่มขึ้นจาก 10 รายเป็น 20 ราย

“เราเริ่มคิดเรื่องการปรับปรุงระบบการทำงานตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อน ต้องให้เข้ามาช่วย ในการพัฒนาระบบ รวมถึงวางกฎเกณฑ์ ที่ปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมของเมืองไทย จากการพูดคุยกับทีมพัฒนาของอินเดียคาดว่าเราจะใช้เวลาในการปรับปรุงระบบไม่ถึง 3 ปี เราต้องทำให้สำเร็จ ผู้บริหารและบอร์ดเห็นด้วย เป้าหมายเพื่อรองรับกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง หากไม่ทำระบบที่มีประสิทธิภาพ ก็อาจจะไม่เติบโตอย่างยั่งยืนได้ “นางสาววัฒนากล่าว

สำหรับการทำงานของระบบอัตโนมัติ น.ส.วัฒนากล่าว น่าจะใช้เวลาในการเขียนโปรแกรม พัฒนาระบบ ประมาณ 1 ปีครึ่ง และยังจะต้องใช้เวลาในการทำความคุ้นเคยในการใช้งาน คาดว่าจะใช้เวลา 3-5ปี ในการปรับตัว ซึ่งจะทำให้การจัดอันดับเครดิตมีคุณภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น จากปัจจุบันทำได้ปีละ 10 เคส น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 เคส การดำเนินงานที่ผ่านมา 17 ปี มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องที่เคยทำได้ 6 เคสเพิ่มเป็น 10 เคส ปัจจุบันมีพนักงานมีทั้งหมด 38 คน ในแต่ปีมีการเข้าใหม่และลาออกบ้าง

“เรามีระบบที่ดี แต่การทำงานต้องเจออุปสรรคบ้าง ถ้าเคสเก่าก็ใช้เวลาพิจารณาข้อมูลมามากนัก ส่วนเคสใหม่ กว่าจะจบอาจจะต้องใช้เวลา 2 เดือน และตอนนี้มากกว่า 2 เดือนเพราะมีเคสมากขึ้น ดูแลลูกค้าถึง 182 รายและ ในข่วง 4 เดือนปีนี้ลูกค้าเพิ่มขึ้น 26 ราย รวมทั้งการพิจารณาอันดับเครดิต ไม่ง่ายในการหาข้อมูลเชิงลึก” นางสาววัฒนากล่าว

กรรมการผู้จัดการกล่าวถึงสถานการณ์การออกหุ้นกู้ในขณะนี้ว่า มีผู้สนใจออกตราสารหนี้มากขึ้น ทั้งภาครัฐ และเอกชนขณะที่นักลงทุนต้องการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีเครดิต ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2559มีบริษัทที่ออกตราสารหนี้คงค้าง จำนวน 204 บริษัทเพิ่มขึ้น 37 บริษัทจากจำนวนที่มีอยู่ 167 บริษัทเมื่อสิ้นปี 2558

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560