รถเมล์ไฟฟ้า200คันโปรเจ็กต์พันล้านขสมก.

24 พ.ค. 2560 | 13:00 น.
โครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)รายการนี้ปัจจุบันอยู่ในการเร่งผลักดันของนายสมศักดิ์ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ได้เร่งปรับปรุงร่างทีโออาร์การจัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า(EV) 200 คันโดยโครงการนี้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโครงการอยู่ระหว่างการทบทวนราคากลาง คุณสมบัติของตัวรถเมล์ไฟฟ้า เช่น ราคาแบตเตอรี่รวมทั้งการร่วมหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อหาแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศต่อไปล่าสุดนั้นทางคณะกรรมการคุณธรรมแนะนำให้ปรับแก้ไขเรื่องราคากลางที่ยังมีข้อติดขัดเรื่องต้นทุนที่สูงเกินไป โดยเฉพาะราคาแบตเตอรี่ในระบบที่มีการปรับลดลงจาก 5 ล้านบาทเหลือเพียง 1 ล้านบาท

โดยนายสมศักดิ์ยืนยันชัดเจนว่าเมื่อได้ข้อสรุปชัดเจนทั้งรายละเอียดโครงการและวงเงินงบประมาณแล้วขสมก.ก็จะนำร่างทีโออาร์ประกาศขึ้นเว็บไซต์ครั้งแรกภายใน 1-2 เดือนนี้ เพื่อทำการประกาศรับฟังความเห็นให้ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นเข้าสู่กระบวนการเปิดประกวดราคาซึ่งตามแผนเดิมต้องรับรถเมล์ไฟฟ้า แบ่งเป็น 4 ล็อต ล็อตละ50 คัน คือ ล็อตแรกเดือนธันวาคม 2560 ล็อต 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ล็อต 3 เดือนเมษายน 2561 และล็อตสุดท้ายเดือนมิถุนายน 2561

สำหรับรถตัวอย่างนั้นในช่วงก่อนนี้บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด(มหาชน) ได้นำรถโดยสารไฟฟ้าต้นแบบซึ่งประกอบในประเทศไทยเป็นคันแรก เปิดตัวที่กระทรวงคมนาคม พร้อมทดลองวิ่งวนรอบสนามหลวงเพื่อทดสอบสมรรถนะอีกทั้งในวันที่ 8 มกราคมยังนำไปโชว์ที่ทำ เนียบรัฐบาลให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นถึงสมรรถนะพร้อมทั้งมีนโยบายให้นำรถเมล์ไฟฟ้ามาทดลองใช้วิ่งใน กทม.โดยขสมก.จะนำร่องประมาณ200 คันก่อน ซึ่งได้มอบหมายให้ขสมก. ศึกษาแผนการจัดหาเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไปนั้น

เบื้องต้นรถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบที่นำมาโชว์เป็นแบบชานตํ่า (Low Floor) ความสูงจากพื้น 30 ซม. สามารถยกขึ้นและปรับระดับลงได้อีก 10 ซม.(กรณีมีนํ้าท่วม พร้อมระบบรองรับการให้บริการสำหรับคนพิการ) ราคาต้นทุนจากนำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบในประเทศโดยเสียภาษีตามปกติ อยู่ที่ประมาณคันละ 16-17 ล้านบาทซึ่งโดยหลักแล้วรถเมล์ไฟฟ้าจะมีต้นทุนแบตเตอรี่ที่ยังไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่ผลการศึกษาในระยะยาวพบว่ารถเมล์ไฟฟ้าจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

[caption id="attachment_152499" align="aligncenter" width="503"] รถเมล์ไฟฟ้า200คันโปรเจ็กต์พันล้านจสมก. รถเมล์ไฟฟ้า200คันโปรเจ็กต์พันล้านจสมก.[/caption]

โดยรถต้นแบบดังกล่าวพบว่าได้นำเข้าแชสซีส์ แบตเตอรี่มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงเบาะนั่ง เกือบทั้งหมดมาประกอบในประเทศใช้วัสดุในประเทศไม่ถึง 20%เนื่องจากผลิตแค่ 1 คันเท่านั้นโดยเฉพาะแบตเตอรี่มีคันละ 2ชุด เป็นต้นทุนหลัก 30-40%ต่อรถ 1 คัน แต่หากมีการผลิตจำนวนมากขึ้นเชื่อว่าจะเพิ่มสัดส่วนวัสดุในประเทศได้ ช่วยลดต้นทุนลงได้อีก โดยรถเมล์ไฟฟ้าต้นแบบมี 35 ที่นั่ง ติดตั้งระบบอีแคส (ECAS) ที่สามารถปรับลดระดับความสูงของรถขณะจอดให้ตํ่าลงเพื่อความสะดวกของผู้โดยสาร และผู้ที่ต้องใช้รถเข็น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ไว-ไฟโทรทัศน์ ติดตั้ง GPS ควบคุมการขับ ใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ทำความเร็วสูงสุด 70 กม./ชม. โดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ ความจุ 324 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ใช้เวลาชาร์จแบตเตอรี่ 5 ชม. สามารถวิ่งได้ระยะทาง 250 กม.ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยไม่สูญเสียพลังงานจากรถติด อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สามารถชาร์จได้ 6,000 ครั้ง หรือ 15 ปี

ดังนั้นจะคุ้มค่าจริงกับราคาที่แพงลิ่วหรือไม่ ประสิทธิภาพใช้งานได้จริงกับพื้นที่กทม.ท่ามกลางอากาศร้อนตับแลบแถมยังมีสภาพการจราจรที่คับคั่งได้อย่างที่มีผลการศึกษาหรือไม่ คนกทม.คงจะได้รับทราบคำตอบกันในเร็วๆนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560