ธุรกิจต่างชาติหนุนลงทุน จี้รัฐทำจริง-แก้ข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

24 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
ในงานเสวนา “Eastern Economic Corridor and SEZs : The new investment opportunity in Thailand” จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษาด้านโลจิสติกส์คณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ นำไปพัฒนาระบบโลจิสติกส์รองรับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีนั้น

ในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าอีอีซี เป็นนโยบายที่ดี ที่รัฐบาลจะต้องผลักดันอย่างต่อเนื่อง และให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนโดยเร็ว ซึ่งนักลงทุนก็พร้อมตอบรับการเข้ามาลงทุน แต่การจะเดินไปถึงจุดนั้นได้จริงยังมีอุปสรรคที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไข

นายฮิโรกิ มิตสุมาตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยที่จัดทำขึ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 26 เมษายน- 3พฤษภาคม 2560 พบว่า ในบรรดา28 บริษัทที่ตอบคำถามการสำรวจ85.7% หรือ 24 บริษัท ได้เข้าไปมีการลงทุนในอีอีซีอยู่แล้ว และ 15 บริษัทก็ยอมรับว่า อีอีซีเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์การลงทุนของธุรกิจญี่ปุ่น “อันที่จริงบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงพื้นที่และมีส่วนในการพัฒนาจังหวัดในภาคตะวันออกของไทยตั้งแต่ทศวรรษ1980 ตอนนั้นรู้จักกันในชื่ออีสเทิร์นซีบอร์ด การลงทุนของญี่ปุ่นลงหลักปักฐานในพื้นที่มาหลายสิบปี และก็เห็นว่านโยบายอีอีซี เป็นการเปิดโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุน แต่เรายังต้องการภาพที่ชัดเจนของทั้งโครงการด้วย”ประธานเจโทรยังกล่าวต่อไปว่า ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้ มีบริษัทญี่ปุ่น 10รายที่ระบุว่า มีแผนหรือมีความตั้งใจที่จะลงทุนเพิ่มในอีอีซี และ 22 บริษัทให้การยอมรับว่า นโยบายส่งเสริมการลงทุนของไทยนั้นได้ผลและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะสิทธิประโยชน์จูงใจด้านภาษีอีกทั้งยังมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับในเกณฑ์ดี

แต่สิ่งที่นักลงทุนญี่ปุ่นยังต้องการที่จะเห็นต่อไปก็คือ ความตั้งใจจริงของรัฐบาลและการเร่งทำนโยบายต่างๆให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมอย่างไว และที่สำคัญคือ การปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ทั้งด้านถนน ระบบราง และสนามบิน ให้พร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ นั่นหมายรวมถึงการเร่งสนับสนุนการลงทุนในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP :Public-Private Partnership)แต่โครงการไหนที่จำเป็นจริงๆ รัฐก็ต้องเป็นแกนนำลงทุนเองไปก่อน นอกจากนี้ ควรจะตั้งศูนย์ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D)ในพื้นที่อีอีซีขึ้นมา เพื่อเป็นแม่เหล็กดึงดูดบุคลากรที่มีการศึกษาสูง มีทักษะความเชี่ยวชาญ นักวิจัย วิศวกร ฯลฯเข้ามาในพื้นที่ด้วย

**ขอความชัดเจน-ลงมือทำให้เร็ว
ด้านนายเดวิด นาร์โดน ประธานคณะกรรมการฝ่ายการค้าและการลงทุนหอการค้าอเมริกัน เปิดประเด็นว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาไม่ค่อยได้เห็นโครงการลงทุนใหญ่ๆด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยมากนักซึ่งนั่นทำให้โครงสร้างพื้นฐานหลายด้านมีไม่เพียงพอรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายการส่งไฟฟ้า ถนนและการขนส่งระบบรางที่ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ หลายโครงการมีการประกาศออกมาเป็นนโยบายก็จริง แต่การลงมือก่อสร้างให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมกลับเชื่องช้า

ส่วนนโยบายและสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนนั้น เขาเห็นว่าบีโอไอทำมาได้ดี และนักลงทุนเองก็อยากจะลงทุนต่อยอดหรือขยายการลงทุนจากพื้นฐานที่ได้วางไว้ดีแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสำคัญนั้นได้แก่สิทธิประโยชน์ทางภาษี การได้ถือครองที่ดินและการได้เป็นเจ้าของที่มีสิทธิ์เต็มที่ในโครงการที่ลงทุนไปทั้งนี้สิ่งที่ยังอยากจะเห็น ก็คงเป็นเรื่องของมาตรฐานที่เป็นสากล รวมทั้งกฎหมายที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งคมนาคม

**คุณภาพบุคลากรไม่พร้อม
นายมาร์คัส โลเรนซินี ประธานหอการค้าเยอรมัน-ไทย ระบุว่า นโยบายส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกรวมทั้งยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นให้นวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น เป็นนโยบายที่ดีแต่รัฐบาลไทยต้องทำอีกหลายอย่างเพื่อทำให้บรรยากาศการลงทุนน่าดึงดูดใจมากขึ้น เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ซึ่งมีการขนส่งระบบรางเป็นหัวใจสำคัญ แต่ไทยยังพัฒนาด้านนี้ช้าอยู่มาก ต้นทุนขนส่งในไทยยังค่อนข้างแพง นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ มีความสามารถด้านภาษา รวมทั้งแรงงานที่มีความชำนาญพิเศษ เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค ฯลฯ นับเป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นต้องมีการเร่งปฏิรูประบบการศึกษาตั้งแต่ระดับโรงเรียนถึงระดับมหาวิทยาลัยต้องผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังอยากเห็นมาตรฐานเดียวกันของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าข้ามชายแดน ที่แม้ทุกวันนี้ เออีซี จะเป็นตลาดเดียวกันแล้ว แต่รถบรรทุกขนสินค้าจากไทยไปกัมพูชา (ยกตัวอย่าง)ก็ยังคงต้องเปลี่ยนรถ ขนถ่ายสินค้ากันวุ่นวาย นักลงทุนอยากเห็นการนำรถบรรทุกสินค้าวิ่งข้ามชายแดนเข้าไปได้โดยสะดวก และไม่ต้องวุ่นวายกับกระบวนการทางศุลกากรที่ซํ้าซ้อน

นายรอล์ฟ-ดีเทอร์ แดเนียล ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์(อีเอบีซี) เห็นด้วยกับปัญหาขาดแคลนบุคคลากรคุณภาพ ว่าเป็นปัญหาใหญ่ของไทย เพราะหัวใจสำคัญของการยกระดับอุตสาหกรรมคือ คุณภาพของแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ลงทุน แต่ตอนนี้แรงงานของไทยถือว่าไม่ได้มาตรฐานเลย นอกจากนี้การขอวีซ่า ขอใบอนุญาตทำงานสำหรับนักธุรกิจต่างชาติ ยังใช้เวลาเปลืองมากงานเอกสารก็เยอะ ต้องแสดงตัวทุกๆ 90 วัน เหล่านี้เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจซึ่งต่างชาติเรียกร้องมานานแล้วรัฐบาลไทยควรเร่งมือแก้ไขเสียที
ทั้งนี้ เขามีข้อเสนอแนะว่า ไทยควรให้การส่งเสริมและเปิดเสรีธุรกิจภาคบริการให้มากกว่านี้ เช่น ธุรกิจบริการในด้านการเงิน การทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ เพราะธุรกิจบริการคือหัวใจสำคัญที่จะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีในอนาคตแทนภาคการผลิต

นายไซมอน แมทธิวส์ ประธานหอการค้าอังกฤษ-ไทย เสริมว่า ไทยควรจะใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติเห็นว่า แผนการของภาครัฐนั้นจะมีการลงมือทำจริงเป็นรูปธรรม ไม่ชักช้า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต้องทำงานร่วมกัน จะต้องทำงานประสานกันให้ดีเพื่อให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด ไม่ใช่ต่างฝ่ายต่างทำแล้วผลงานออกมาเป็นปัญหาเหมือนกับสถานีรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่ไม่ได้ให้ความสะดวกแก่นักเดินทางที่ต้องเปลี่ยนหรือต่อรถเท่าที่ควร ต้องแบกหิ้วกระเป๋าเดินทางขึ้น-ลงสถานีอย่างทุลักทุเล

นอกจากนี้ เขายังเห็นด้วยกับหลายๆเสียงที่ว่า ต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อให้การลำเลียงสินค้าวัตถุดิบเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดต้นทุนการขนส่ง นโยบายและแผนโครงการดีๆที่ไทยมี ควรเร่งลงมือทำให้เร็วที่สุด และหากขอได้ ก็อยากจะขอให้ช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากของกระบวนการทางศุลกากร ช่วยเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ทางภาษาและช่วยให้กระบวนการขอวีซ่า ขอใบอนุญาตทำงานสำหรับชาวต่างชาติ มีความยุ่งยากน้อยลง

ขณะที่นายยงมิน ถัง รองประธานและหัวหน้าศูนย์ธุรกิจจีน ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เห็นด้วยว่า อีอีซีคือโครงการที่ดีมากและเป็นโครงการด้านเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากที่สุดนอกเขตกรุงเทพฯปัจจุบันมีบริษัทของจีนมากกว่า 100 บริษัททำธุรกิจอยู่ในพื้นที่อีอีซี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงการนี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ (The Belt and Road) ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นนักการธนาคารเขามองว่าไทยควรจะเปิดกว้างให้ต่างชาติมีสัดส่วนการถือหุ้นหรือครอบครองกิจการในบางอุตสาหกรรมได้มากขึ้นการลงทุนในพื้นที่อีอีซีควรจะต้องมีความยืดหยุ่นในเรื่องนี้ และควรมีมาตรการช่วยลดต้นทุนการกู้ยืมจากแหล่งทุนนอกประเทศเพื่อการเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี เช่นด้วยการลดภาษีที่เรียกเก็บจากทุนที่กู้มาจากนอกประเทศเป็นต้น และขอให้ช่วยลดขั้นตอนกฎระเบียบด้านการธนาคาร เพราะการสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการนั้นเป็นเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภาคการเงินการธนาคารจึงควรได้รับการเปิดเสรีมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560