ทางออกนอกตำรา : ถามหา “วิรไท” ทำไมปล่อยให้โขกดอกรายย่อย

19 พ.ค. 2560 | 11:28 น.
ทางออกนอกตำรา
โดย : บากบั่น บุญเลิศ

ถามหา “วิรไท” ทำไมปล่อยให้โขกดอกรายย่อย

กลายเป็นเรื่องตลกร้ายในสังคม ”ตลาดเงินเสรี” เมื่ออภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ผู้เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารพาณิชย์ 2 ธนาคารในเวลา 20 ปีที่ผ่านมา และเคยเป็นถึงประธานสมาคมธนาคารไทย ออกมาส่งผ่านนโนยายด้วยวาจาเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2560 ว่า ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ทบทวนการคิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการรายเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่สูงกว่ารายใหญ่อยู่อย่างมาก

โดยปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่นั้นธนาคารจะคิดดอกเบี้ยเพียงแค่ 1-2% แต่กลับมีการคิดดอกเบี้ยรายย่อยและเอสเอ็มอีแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย 7-8% เฉพาะส่วนต่างตรงนี้สูงลิ่ว 5-6% ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยมีต้นทุนทางการเงินที่สูงเกินไปจนเกิดความไม่เท่าเทียมกัน

รมว.คลังเป็นสุภาพบุรุษและผู้ดีพอที่จะยอมรับว่า การคิดส่วนต่างดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังไม่สามารถไปบังคับได้ แต่ก็เป็นเรื่องของจิตสำนึกที่ธนาคารพาณิชย์สามารถคิดได้ว่า การคิดดอกเบี้ยสูงไม่เป็นธรรมหรือไม่ การจะไปบังคับธนาคารพาณิชย์ให้คิดดอกเบี้ยกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่ำกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ แต่เป็นเรื่องของตลาดและธนาคารพาณิชย์สามารถคิดได้เอง

เรียกว่าเป็นการโยนโจทย์ใหญ่ลงไปในระบบการเงินของประเทศที่มี "วิรไท สันติประภพ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ไปยืนรับฟังในงานวันนั้นให้ช่วยกันขบคิด หาทางแก้ปัญหา “ตลาดการเงินเสรี” ที่บิดเบี้ยวอย่างรุนแรงและนับวันจะทำให้ “ปลาใหญ่กินปลาน้อย” และทำให้ “รายย่อยโงหัวไม่ขึ้น”

ผมแทบไม่เชื่อในสายตาของตัวเอง เมื่อนักข่าวหันไปสอบถาม “ดร.ก้อ” วิรไทว่า จะทำอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ได้รับคำตอบในเรื่องปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้รายย่อยว่าเป็นปัญหาของระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ขยับไม่ได้

อันว่า ดร.ก้อ "วิรไท" นั้นถือเป็นนักเศรษฐศาสตร์รุ่นใหม่ที่ไฟแรง เรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 และได้รับเหรียญทองทางด้านวิชาการ 4 เหรียญ ด้านช่วยเหลือกิจกรรมดีอีก 1 เหรียญ ได้รับพระราชทานทุนภูมิพลตลอดระยะที่เวลาที่เรียนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นบัณฑิตเศรษฐศาสตร์ในวัยเพียง 18 ปีเศษ จากนั้นได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดล ไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา จบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อมีอายุได้ 24 ปี

วิรไท เป็นชื่อที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ผู้มีเสรีแกล้วกล้า" เขาเป็นคนที่มีความคิดก้าวหน้าในการนำเสนอวิธีคิด วิธีการทำงานที่มีการเกื้อกูลกันระหว่าง “ทุนนิยม”กับ “สังคมเป็นสุข” เพื่อนำพาเศรษฐกิจการเงินของประเทศให้เติบโตอย่างผาสุกมาตลอดในห้วงที่ทำงานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และถูก ”ธารินทร์ นิมมานเหมินท์” ดึงมาเป็นผู้อำนวยการร่วม สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ ในกระทรวงการคลังช่วงปี 2540 ก่อนผันกายไปทำงานกับธนาคารไทยพาณิชย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ผมยังจำได้ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ดร.วิรไท เขียนบทความชิ้นหนึ่งลงในหนังสือพิมพ์ที่สร้างความฮือฮาในแวดวงวิชาการและด้านเศรษฐศษสตร์ ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2558 เห็นชอบให้ ดร.วิรไท ขึ้นเป็น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนที่ 20 สืบต่อจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2558 บทความชิ้นนั้นมีชื่อว่า “เศรษฐกิจกับจิตใจ” ความว่า....

"คนทั่วไปคงไม่คิดว่าเศรษฐกิจกับจิตใจเกี่ยวข้องกัน ที่จริงแล้วสองเรื่องนี้แยกจากกันไม่ออก และผูกพันกันในหลายมิติ เพราะเรื่องเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคน และพฤติกรรมของคนถูกกำหนดด้วยจิตใจ ปัญหาเศรษฐกิจที่แต่ละประเทศเผชิญก็สะท้อนถึงสภาวะจิตใจและพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ หนี้ครัวเรือน การขาดวินัยการคลัง การว่างงาน ตลอดจนการคอรัปชัน

ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เรามักได้ยินรัฐบาลพูดถึงความเชื่อมั่นของประชาชนอยู่เสมอ ประเทศไทยมีดัชนีวัดระดับความเชื่อมั่นของคนหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ผู้บริโภค และนักลงทุน เมื่อใดก็ตามที่ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนตกต่ำ รัฐบาลจะขาดความมั่นใจ และต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีต่างๆ

ในบางประเทศรัฐบาลถึงกับแอบแก้ตัวเลขเศรษฐกิจหรือไม่พูดข้อมูลที่แท้จริง เพราะกลัวว่าจิตใจที่วิตกกังวลของประชาชนจะส่งผลให้การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยากขึ้นไปอีก

สำหรับภาคธุรกิจแล้ว จิตใจของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงสำคัญมากต่อความสำเร็จในระยะยาวทั้งของตัวธุรกิจเองและสังคมที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวข้อง ถ้านักธุรกิจมีจิตใจดี ยึดมั่นในหลักบรรษัทภิบาล บริหารธุรกิจด้วยความเป็นธรรมต่อคู่ค้า คู่แข่ง พนักงาน และสังคมรอบข้าง ธุรกิจนั้นมีโอกาสสูงที่จะขยายตัวและประสบความสำเร็จในระยะยาว

ในทางตรงกันข้าม เราเห็นธุรกิจขนาดยักษ์ใหญ่หลายแห่งต้องสะดุดขาตัวเองล้มลง เพราะมุ่งหวังแต่ผลกำไรระยะสั้น เร่งขยายธุรกิจจนเกินภูมิคุ้มกันที่ตนมี บริหารธุรกิจแบบเอาเปรียบสังคมและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน
มีหลายตัวอย่างที่จิตใจของนักธุรกิจมีผลต่อระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม

ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและคุณภาพของสังคมไทยที่ไหลลงเรื่อยๆ จะไม่มีทางแก้ไขได้ ถ้าภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ ไม่คิดว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และไม่คิดว่าตนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน เราต้องไม่ลืมว่าทุกขั้นตอนของการทำธุรกิจมีผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างวัตถุดิบทั้งทางตรงและผ่านห่วงโซ่อุปทานที่อาจจะเอาเปรียบคนตัวเล็กๆ ในสังคม การละเลยเรื่องสวัสดิการแรงงาน การผลิตสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน กลยุทธ์การตลาดที่ทำลายคู่แข่งขนาดกลางขนาดเล็ก การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ชนะการประมูล การโฆษณาชวนเชื่อให้ผู้บริโภคมีค่านิยมที่ไม่เหมาะสมหรือบริโภคเกินควร ไปจนถึงการไม่จัดการขยะที่เกิดจากกระบวนการผลิตและการบริโภคสินค้าที่ตนผลิต

ถ้าธุรกิจเปิดใจทบทวนวิธีการทำธุรกิจของตนทุกขั้นตอนให้เป็นธรรมต่อคู่ค้า สร้างผลบวก ลดผลลบที่มีต่อสังคม และปรับปรุงวิธีการทำธุรกิจให้ดีขึ้นแล้ว เชื่อได้ว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและคุณภาพของสังคมไทยจะดีขึ้นมาก

เศรษฐกิจและสังคมไทยจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และสมดุลก็ต่อเมื่อนักธุรกิจ (โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่) มีจิตใจที่ต้องการเป็นพลเมืองดีของประเทศ คือต้องการเห็นเศรษฐกิจและสังคมไทยโดยรวมดีขึ้น และไม่รีรอที่จะลุกขึ้นทำสิ่งที่ตนทำได้"

" ในเรื่องนี้ผมขอชื่นชมคุณบัณฑูร ล่ำซำ ที่ออกมาเรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังจากที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่นิ่งเฉยต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ผมไม่ได้ชื่นชมคุณบัณฑูรตรงที่ช่วยให้กลไกการทำงานของนโยบายการเงินมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น แต่ชื่นชมที่คุณบัณฑูรช่วยกระตุกกรอบความคิดและจิตใจของนายธนาคารไม่ให้ทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับสภาวะเศรษฐกิจและความตึงเครียดในสังคม"

วิรไทเสนอว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะเกิดผลยั่งยืน ต้องเริ่มที่การปฏิรูปในใจของคนในสังคม โดยเฉพาะคนกลุ่มบนที่ได้รับประโยชน์สูงมากจากพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

คำถามของผมคือในวันที่สังคมกำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในกลไกตลาดการเงินเสรี "วิรไท" ที่เป็นผู้มีเสรีแกล้วกล้า หายหน้าไปไหน....

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา/ หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ/ฉบับ 3263 ระหว่างวันที่ 21 -24 พ.ค.2560