"บิ๊กตู่" อยากให้ทุกฝ่ายสื่อสาร 2 ทางเพื่อเข้าใจตรงกัน

19 พ.ค. 2560 | 14:02 น.
วันที่ 19 พ.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า "พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ, ในการสร้างการรับรู้เพื่อความเข้าใจกันนั้น มีความสำคัญ ในเรื่องของความเข้าใจระหว่าง นักเรียน – นิสิต – นักศึกษา และ ประชาชน นั้น ผมอยากให้หาเวลาออกไปพบปะ พูดคุยกันนะครับ ทั้งใน กทม. และในท้องถิ่น จังหวัดต่างๆด้วยนะครับ ทั้ง อบจ. – อบต. – เทศบาล – กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่น – ปราชญ์ชาวบ้าน ในแต่ละพื้นที่ของตนเอง ให้ทุกคนได้ทราบถึงการทำงานของพี่น้องข้าราชการ หน่วยงานต่างของภาครัฐ ทุกประเภท จะได้เข้าใจร่วมกัน ได้ถามไถ่ไขข้อข้องใจ ในการที่จะเข้ามาร่วมมือกันในกระบวนการสร้างความเข้าใจ เกิดการมีส่วนร่วม อย่างแท้จริง บนพื้นฐานหลักคิดที่ถูกต้อง

ผมอยากให้เป็นการ “สื่อสาร 2 ทาง” เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ – เข้าใจ ในประเด็นของข้อกฎหมาย – กฎระเบียบต่างๆ ที่ส่วนราชการต้องปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจกันก็จะมองว่าล่าช้าไม่เป็นธรรมอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าระเบียบมันว่ายังไงนะครับ รวมไปถึงเรื่องการให้บริการ, การตอบสนองความต้องการ การสร้างความพึงพอใจ ถ้าปรับเข้าหากันได้ มันก็จะสะดวกขึ้นนะครับ และก็เข้าใจกันมากขึ้น

ก็ไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอให้ทุกคนทุกฝ่าย ได้สามารถเสนอข้อคิดเห็น ซักถาม ข้อสงสัยนะครับ อันนี้ก็ฝากข้าราชการในพื้นที่ทุกคนด้วยนะครับ กทม.ด้วย มันก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ผมต้องการให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสันติสุข มีความพึงพอใจ มีความปรองดองร่วมมือกัน และมีประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ในอนาคตนะครับ

ขอให้ คสช. ได้ช่วยสนับสนุน และ ดูแลกิจกรรมเหล่านี้ด้วยนะครับ กระทรวงศึกษา ครู อาจารย์ต่างๆทั้งหมดนะครับ ทุกภาคส่วน ขอให้ช่วยกันในเรื่องนี้ คุยกันให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปเปิดเวทีอะไรมากมาย คุยกันในหมู่บ้าน ในชุมชน ในครอบครับอะไรต่างๆ เหล่านี้ว่า เออปัญหาประเทศไทยมันอยู่ตรงไหน และวันนี้รัฐบาลทำอะไรไปบ้าง อะไรที่ยังทำได้ไม่ดีหรือทำดีก็พูดกันถึงกันบ้าง อย่างน้อยมันก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดพื้นฐานกันได้นะครับ

ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูในอดีต ว่าปัญหามันเกิดอะไรขึ้น และรัฐบาลได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น บางอย่างสำเร็จ เร็ว – ช้า ก็ตามความยาก – ง่าย ปัญหาที่มีความซับซ้อนกัน มันก็ยากหน่อย เพื่อจะไปสู่การปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญก็คือในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปประเทศนั้นต้องการการเรียนรู้ นอกจากระบบการศึกษาที่เรากำลังปฏิรูปกันอยู่ เราต้องปฏิรูปทางความคิดไปพร้อมๆ กันด้วย โดยการสร้างหลักคิด กระบวนการคิด ที่เป็นเหตุเป็นผล มีการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้อง โดยต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

นอกจากนี้ เราจะต้องเข้าใจกัน เชื่อใจกัน ไม่อย่างนั้น ก็จะเกิดการโทษกันไปมา และไม่เกิดความร่วมมือ ก็จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมเสียที เหมือนลักษณะที่เราเรียกว่า “ย่ำเท้าอยู่กับที่” เราให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งระบบ และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสนใจ เป็นลำดับแรกๆ คุณภาพของคน – ข้าราชการ ทั้งหมดจะต้องมีหลักคิดที่ “ร่วมกัน” ที่ถูกต้องร่วมกันเสียก่อน มากกว่าการที่จะกล่าวอ้างแต่ “ประชาธิปไตย” อย่างเดียว

สำหรับเรื่องนี้ มีความสำคัญนะครับต่อการปฏิรูปทางการเมืองด้วย ก็อยากให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน เราต้องการความคิดพื้นฐานของสังคม เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราทุกคน ทุกฝ่าย ต้องช่วยกันผลักดัน อย่าปล่อยให้รัฐบาล ข้าราชการ ทำเพียงลำพัง ภาคเอกชน – ภาควิชาการ – ภาคประชาสังคม รวมทั้งท้องถิ่น ต้องยื่นมือมาจับกัน เชื่อมโยงกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่ามองเห็นปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว ต้องหาว่าเราจะแก้ปัญหากันอย่างไรในส่วนตนเองรับผิดชอบ และเราต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายอันเดียวกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มันจะไม่มีพลัง ไม่มีทิศทางที่เหมาะสมถูกต้อง"