พิษทรัมป์ล้วงลูกFBI ทุบหุ้นร่วงลามทั่วโลก

21 พ.ค. 2560 | 11:00 น.
ผลกระทบจากปมร้อนผู้นำสหรัฐฯล้วงลูก ปลด “นายเจมส์ โคมีย์” ผู้อำนวยการเอฟบีไอทำตลาดหลักทรัพย์ป่วน ทุบราคาหุ้นบริษัทอเมริกันร่วงต่ำสุดในรอบ 8 เดือนกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา แรงสะเทือนส่งถึงตลาดหุ้นยุโรปและเอเชียท่ามกลางความคลอนแคลนของสเถียรภาพรัฐบาลทรัมป์ซึ่งเกิดขึ้นเร็วกว่าความคาดหมาย

ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐอเมริกาดำดิ่งสู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2559 เมื่อกลางสัปดาห์ (17 พฤษภาคม) ที่ผ่านมา สะท้อนความหวาดหวั่นเกี่ยวกับปมขัดแย้งทางการเมืองและภาพลักษณ์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ที่ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อปกป้องประโยชน์ของตัวเอง ขาดจริยธรรม ครอบงำ และไม่มีความโปร่งใสในการบริหารงาน ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจจะส่งผลให้รัฐบาลไม่เป็นที่ไว้วางใจและขาดแรงสนับสนุนในรัฐสภา

ครั้งล่าสุดที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯปรับตัวหนักคือหลังจากที่ผลการทำประชามติในอังกฤษชี้ออกมาว่า ประชาชนอังกฤษต้องการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 แต่ครั้งล่าสุดนี้ เป็นผลโดยตรงมาจากความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลเนื่องจากคำสั่งปลดแบบฟ้าผ่า นายเจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสอบสวนกรณีที่มีการกล่าวหาว่ารัสเซียมีส่วนช่วยให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คำสั่งปลดผ.อ.เอฟบีไอดังกล่าวทำให้ทรัมป์กลับตกเป็นเป้าหมายการขุดคุ้ยหาข้อเท็จจริงว่า เขากำลังพยายามล้วงลูกขอให้เจมส์ โคมีย์ รามือจากการสอบสวนใช่หรือไม่ และนี่คือการแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานที่กุมความลับของรัฐบาลหรือไม่

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผู้รับเคราะห์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์วอลล์สตรีทคือ หุ้นบริษัทเฟสบุ๊คที่ร่วงลง 3.3% ทำให้นายมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊ค สูญเสียมูลค่าสินทรัพย์ทันที 2,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นายบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟต์ คอร์ป. พบกับความสูญเสีย 1,000 ล้านดอลลาร์ฯเมื่อราคาหุ้นบริษัทร่วงไป 2.8% ส่วนเจฟฟ์ บีซอส ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์อเมซอนดอตคอม สูญเสีย 1,700 ล้านดอลลาร์เมื่อหุ้นอเมซอนปรับลดลง 2.2%

ต้นเหตุความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นทั่วโลกกลางสัปดาห์นี้ ไม่ได้มีเพียงประเด็นร้อนทางการเมืองในสหรัฐฯ แต่ยังมีปัจจัยร่วมได้แก่ วิกฤติทางการเมืองในบราซิลหลังจากที่ประธานาธิบดีมิเชล เทเมอร์ ตกเป็นข่าวพัวพันการทุจริต รวมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐฯที่ออกมาล่าสุดในทิศทางลบ อาทิ ตัวเลขเงินเฟ้อและการขยายตัวของจีดีพีที่แผ่วกว่าคาดหมาย ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจปรับดอกเบี้ยของธนาคารกลาง (เฟด) ในเดือนมิถุนายนนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560