"DSI" จับมือ "ตำรวจอิตาลี" ฟัน! “ซูเปอร์คาร์” หมื่นคัน นิชคาร์ยันบริสุทธิ์

19 พ.ค. 2560 | 06:28 น.
ดีเอสไอจับมือตำรวจสากลประเทศอิตาลี ตรวจสอบซูเปอร์คาร์นำเข้าที่เสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง พร้อมฟันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย คาดมีจำนวนกว่าหมื่นคัน ด้าน “นิชคาร์” เตรียมแถลงข่าวสัปดาห์หน้าเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์

วันนี้ (19พ.ค.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แถลงความคืบหน้ากรณีซูเปอร์คาร์เลี่ยงภาษี โดยสำแดงราคานำเข้าต่ำ ทำชาติเสียหายนับหมื่นล้านบาท

พันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ดีเอสไอสอบสวน 2 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบและหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร คือ 1.กลุ่มรถจดประกอบหลีกเลี่ยงภาษี 2.กลุ่มรถนำเข้าที่สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โดยประเด็นหลังได้ส่งทีมตรวจค้นและอายัดรถจำนวน 122 คัน จาก 5 จุดตรวจค้นเมื่อวานนี้(18 พ.ค.) ทั้งบริษัท นิชคาร์ สาขามอเตอร์เวย์และพารากอน รวมถึงเต้นท์รถยนต์ที่ถนนประดิษฐ์มนูญธรรม และโชว์รูมเอสทีที ออโต้คาร์ ถนนเทียมร่วมมิตร และสุขุมวิท 63 โดยมียี่ห้อลัมโบร์กินี แมคราเลน โลตัส เป็นต้น ภาษีที่ขาดต่อคัน 10-18 ล้านบาท รวมรัฐเสียหายเป็นจำนวนเงิน 2,400 ล้านบาท

พันตำรวจโท กรวัชร์ ปานประกร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับตำรวจสากลจากประเทศอิตาลีในการสืบสวนหาราคาซื้อ-ขายที่แท้จริง และนำมาเปรียบเทียบกับราคาขายในเมืองไทย โดยพบว่าผู้ประกอบการหลายรายสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริงต่อกรมศุลกากร หรือไม่เกิน 40%ของราคารถที่บริษัทผู้ผลิตในประเทศต้นทางกำหนด

18575746_1709227399095202_1429392785_o
ขณะเดียวกันยังใช้กลยุทธ์คำนวนราคาจากค่าเงินดอลลาร์ (ณ วันที่คำนวน 35 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์) ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนต่ำกว่ายูโร(วันที่คำนวน 40 บาทต่อหนึ่งยูโร)ซึ่งเป็นสกุลเงินต้นทางอีกด้วย บวกกับนำราคาต่ำมาคำนวนภาษีที่ต้องจ่ายรวม 328%(ภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ยกตัวอย่าง ลัมโบร์กินี มูเซลลาโก้ ถ้าเสียภาษีถูกต้อง 41 ล้านบาท(นิชคาร์ขาย 39 ล้านบาท) แต่ปรากฎว่าจ่ายภาษีจริงแค่ 11 ล้านบาท จะเห็นว่ามีส่วนต่างกันถึง 30 ล้านบาทต่อคัน

“หากนับย้อนหลังกลับไป 5 ปี คิดว่าจะมีซูเปอร์คาร์ที่เข้าข่ายกระทำความผิดนี้กว่า 10,000 คัน เฉลี่ยแล้วรัฐบาลจะสูญเสียรายได้นับหมื่นล้านบาท โดยดีเอสไอจะตรวจสอบ ทั้งผู้นำเข้าอย่างเป็นทางการ เกรย์มาร์เก็ต เอเจนต์ที่เป็นบริษัทนำเข้าทั้งหมด” พันตำรวจโท กรวัชร์ กล่าว

พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า สาเหตุที่ต้องเข้าไปตรวจค้นและอายัดรถถึงโชว์รูม เพราะต้องการตัดวงจรการทำผิดกฎหมายทั้งหมด หากปล่อยให้ขายไปลูกค้าซึ่งเป็นบุคคลที่สามอาจจะต้องโดนสืบสวนที่หลัง เช่นเดียวกับสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อ ซึ่งการสืบสวนจะยุ่งยากมากขึ้น

“รัฐบาลต้องเรียกภาษีที่ขาดหายไป กลับมาจากผู้กระทำความผิดทั้งหมด ส่วนรถที่ซื้อ-ขายไปแล้ว สามารถย้อนกลับไปดำเนินคดีได้หากไม่หมดอายุความ ด้านเจ้าหน้าที่รัฐถ้าเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการทุจริต จะเป็นหน้าที่ของ ปปช.(คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)จัดการต่อไป”

18596459_1709227395761869_1072813006_o

ด้านบริษัท นิชคาร์ จำกัด โดย “วิทวัส ชินบารมี” กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตอนนี้ต้องให้ดีเอสไอตรวจสอบไปก่อน และบริษัทจะตั้งโต๊ะแถลงข่าวชี้แจ้งข้อเท็จจริงในสัปดาห์หน้า แต่ยืนยันว่าบริษัทดำเนินธุรกิจถูกกฎหมาย เสียภาษีถูกต้องทุกบาท

ขณะที่ความคืบหน้าของกรณีรถยนต์จดประกอบ รายงานข่าวจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เผยว่า ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มีคำสั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ 372/2559 ลงวันที่ 21 เมษายน 2559 มอบหมายให้  พันตำรวจตรี สุริยา สิงกมล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรณีขบวนการนำรถยนต์ ใช้แล้วเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจดประกอบเป็นรถยนต์จากอุปกรณ์ชิ้นส่วนรถยนต์เก่า ทางคณะพนักงานสอบสวน ได้เร่งรัดดำเนินการ ตรวจสอบข้อมูลรถยนต์จดประกอบจากชิ้นส่วนเก่าจากต่างประเทศที่กรมการขนส่งทางบกนำข้อมูลมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการ จำนวน 7,123 คันซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้แบ่งการนำส่งเอกสารข้อมูลการจดทะเบียนรถยนต์จดประกอบเป็น 2 ครั้งครั้งแรกจำนวน 548 ครั้ง ครั้งที่ 2 จำนวน 6,575 คันซึ่งจากการตรวจสอบ จำนวน 7,123 คัน เบื้องต้นพบว่าเข้าข่ายเป็นความผิดจำนวน 3,773 คันดังนี้
1.ความผิดตามมาตรา 27 และ/หรือ มาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2569 จำนวน 1,038 คัน ดำเนินการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีพิเศษแล้ว จำนวน 25 คัน และอยู่ระหว่างการดำเนินงานสืบสวนเพื่อพิจารณาเป็นคดีพิเศษอีก จำนวน 1,013  คัน โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.1. รถหรูที่มีมูลค่าเกินกว่า 4 ล้านบาท พบความผิด 98 คัน เป็นคดีพิเศษแล้วจำนวน 25 คัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีพิเศษ จำนวน 73 คัน

1.2. รถที่มีมูลค่าไม่เกินกว่า 4 ล้านบาท พบความผิด จำนวน 940 คัน และอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นคดีพิเศษ

2.ความผิดมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 จำนวน 2,735 คัน ซึ่งได้นำส่งข้อมูลรถจดประกอบให้รถจดประกอบให้กรมศุลกากรพิจารณาดำเนินการเรียกเก็บอากรโครงตัวถังและเครื่องยนต์ที่นำเข้ามาจดประกอบเป็นรถยนต์ครบชุดสมบูรณ์ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แล้ว จำนวน 848 คัน และกรมศุลกากรได้ส่งผลการพิจาณาสำหรับรถยนต์ที่คณะกรรมการพิจาณาเรียกเก็บอากรอุปกรณ์ชิ้นส่วนที่นำเข้ามาประกอบเป็นรถยนต์ครบชุดตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 แล้ว มีมติให้เรียกเก็บอาการโครงรถยนต์เก่าใช้แล้ว และเครื่องยนต์เก่าใช้แล้วในพิกัดอัตราศุลกากรในฐานะสิ่งที่สมบูรณ์แล้วนั้นกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีอาญา จำนวน 205 คัน และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ออกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีอาญาจำนวน 205 คัน และกรมสอบสวนดดีพิเศษได้ออกเลขคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มผู้กระทำความผิดไปแล้วจำนวน 27 คัน คงเหลือข้อมูลรถยนต์จดประกอบที่ต้องนำส่งกรมศุลกากรพิจาณา จำนวน 1,887 คัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลข้อมูลหมายเลขตั้งต้นโครงงตัวถังรถยนต์และหมายเลขเครื่องยนต์จากโรงงานผู้ผลิตจากต่างประเทศ

ทั้งนิ้ คดีพิเศษ จำนวน 25 คัน ตามข้อ 1. มีผู่ต้องหาที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ประกอบด้วย

1.นิติบุคคล จำนวน 3 บริษัท  2.บุคคลธรรมดา ได้แก่ (1)นักการเมืองท้องถิ่น (2)ข้าราชการตำรวจ (3)เจ้าหน้าที่กรมศุลกากร (4)อดีตเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก (5)กลุ่มผู้นำเข้ารถจดประกอบ เจ้าของบริษัท และ พนักงานบริษัท (6)คนยื่นขอจดทะเบียนกับการขนส่งทางบก และได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาแล้ว