หลอมรวมประสบการณ์ ผนึกรากฐาน สร้างงานศิลป์แผ่นดินไทย

21 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
“เมื่อเรามีความใฝ่ฝันจะทำงานให้กับกรมศิลปากร และเราก็มีโอกาสเริ่มต้นทำงานตั้งแต่นับหนึ่ง การบรรจุเป็นข้าราชการกรมศิลปากร ผ่านการสั่งสมประสบการณ์อย่างยาวนานในหลากหลายพื้นที่มากกว่า 30 ปี และวันหนึ่งเราได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดของกรมศิลปากร นี่คือสิ่งที่นับเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดในชีวิตข้าราชการคนหนึ่ง”

แสงสีทองลอดผ่านช่องประตูส่องสว่างมาถึงบันไดทางขึ้นอาคารที่เคียงคู่สายธารประวัติศาสตร์งานศิลป์บนแผ่นดินไทยมานับร้อยปี จุดที่บันทึกรายพระนามและชื่อของผู้บริหารสูงสุดของกรมศิลปกร และวันนี้ชื่อที่ปรากฎอย่างเด่นชัดในการรับภารกิจหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของแผ่นดินคือชื่อของ “อนันต์ ชูโชติ” อธิบดีกรมศิลปากร คนปัจจุบัน

“ทุกๆ เช้าที่ผมเข้ามาทำงานและก้าวขึ้นบันไดนี้ ผมจะมองชื่อตนเองและชื่อของอดีตอธิบดีกรมศิลปากรทุกท่าน พร้อมตั้งมั่นว่าผมจะทำงานในวันนี้และทุกๆ วันให้ดีสุดความสามารถ”

จากเด็กชายชาวพัทลุงคนหนึ่งที่ชื่นชอบการอ่านหนังสือประเภทสังคมศึกษา ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ทั้งไทยและต่างประเทศเป็นพิเศษ การติดตามคุณพ่อซึ่งเป็นนักการภารโรงของโรงเรียนประจำอำเภอไปทำงานทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ทำให้เด็กชายในวัยที่ศึกษาอยู่ในระดับประถมคนนี้ได้พบกับขุมทรัพย์ทางปัญญาขนาดใหญ่ผ่านการอ่านหนังสือของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในห้องสมุดของโรงเรียน และด้วยองค์ความรู้ทำให้เด็กชายธรรมดาๆ คนหนึ่งเพียบพร้อมไปด้วยความรู้รอบตัว สามารถอธิบายและตอบคำถามในชั้นเรียนได้อย่างฉะฉานเฉลียวฉลาดเกินวัย เข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลาและเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในที่สุด

เส้นทางชีวิตที่เหมือนถูกจับวางให้เรียนรู้ประสบการณ์เพื่อขึ้นสู่ตำแหน่ง “อธิบดีกรมศิลปากร” จากจุดเริ่มต้นของอาชีพราชการในตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ ระดับ 3 สังกัดกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เพิ่มพูนประสบการณ์ผ่านการบริหารงานในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุทยานประวัติศาสตร์ และเมืองประวัติศาสตร์จากภาคเหนือสู่ตะวันออกเฉียงเหนือตดข้ามมาสู่ภาคตะวันตกและภาคกลางยกระดับงานอนุรักษ์ของกรมศิลปากรให้หลอมรวมกับการพัฒนาของชุมชนเมืองได้อย่างเหมาะสมและกลมกลืนมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การสร้างประโยชน์แก่ชุมชนควบคู่กับการอนุรักษ์มรดกของชาติอย่างยั่งยืน

[caption id="attachment_152017" align="aligncenter" width="335"] อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร[/caption]

“การทำงานกับชุมชนเราต้องมีทั้งบุ๋นและบู๊ เพราะงานด้านโบราณคดีนั้นเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนผ่านไปเกิดความไม่สมดุลของการพัฒนาสู่ความเป็นสมัยใหม่ของเมือง และการธำรงรักษาไว้ซึ่งเรื่องราวและโบราณสถานและโบราณวัตถุทางประวัติศาสตร์ ปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นการแก้ไขมิใช่เฉพาะเพียงการใช้ความรู้ทางวิชาการ ทักษะความรู้ความสามารถทางช่างที่ต้องบำรุงรักษาดูแลงานอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง แต่คือการหาจุดสมดุลของทุกฝ่ายในการสร้างความร่วมมือเพื่อให้การพัฒนาทั้งสองฝั่งดำเนินควบคู่กันไปได้อย่างต่อเนื่อง”

ด้วยเหตุผลที่ว่าครั้งล่าสุดที่มีการจัดสร้างพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์คือการจัดสร้างในปี พ.ศ. 2493 ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ก่อให้เกิดความขาดช่วงขององค์ความรู้และการสืบต่อฝีมืองานช่าง ภายใต้ภารกิจที่คนไทยทั้งประเทศและประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกกำลังจับตามอง สิ่งที่คุณอนันต์ ชูโชติเร่งดำเนินการมิเพียงทำงานให้งานที่หลอมดวงใจทุกดวงของชาวไทยให้เสร็จสมบูรณ์และสมพระเกียรติอย่างหาที่สุดมิได้เท่านั้นแต่คือช่วงเวลาของการผนึกพลังของอดีตอธิบดีกรมศิลปากร ข้าราชการ และผู้เชี่ยวชาญทุกท่านให้เข้ามามีส่วนร่วมเร่งสร้างองค์ความรู้ ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญทังศาสตร์และศิลป์ไทยให้สืบสานความเป็นไทยอย่างมั่นคง

การสร้างคนของกรมศิลปากร คือการสร้างคนที่มีคุณภาพผ่านจิตวิญญาณที่มุ่งสืบสานศิลปะและทรัพย์สินมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างเข้มข้นและเข้มแข็ง เหมือนดังที่บรรพบุรุษของเราได้สร้างไว้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ในฐานะอธิบดีกรมศิลปากรผมมุ่งมั่นที่จะสร้างและส่งต่อความเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีความตระหนักยิ่งในการดูแล คุ้มครองอนุรักษ์ภูมิปัญญาและสมบัติของชาติไว้ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง

“เมื่อประสบการณ์พุ่งทะยานสู่จุดสูงสุดวันที่ 13 ตุลาคม 2558 คือวันคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้คุณอนันต์ ชูโชติขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และใน 1 ปีถัดมาวันที่ 13 ตุลาคม 2559 คือวันที่อธิบดีท่านนี้ได้ทำหน้าที่ครั้งยิ่งใหญ่กับการเป็นแกนหลักในการระดมทุกสรรพกำลังและความสามารถ จัดสร้าง“พระเมรุมาศ”

“ไม่ว่าเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่ถ้าจิตวิญญาณของคนกรมศิลปากรยังมีอยู่อย่างมั่นคงและเข้มแข็ง งานที่เกิดขึ้นในยุคสมัยปัจจุบันรวมถึงยุคต่อไปจะยังคงสะท้อนภาพการหลอมรวมความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปวัฒนธรรมของชนชาติไทยทุกยุคทุกสมัยให้ภาคภูมิใจต่อไปอย่างแน่นอน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560