เสนอโอน "สตช." สังกัด "ยุติธรรม" ชงขึ้นเงินเดือนตร.เหตุ "ป้องกันโกง"

18 พ.ค. 2560 | 09:00 น.
วันที่ 18 พ.ค.60 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าวผลการพิจารณาศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ ระหว่างสนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

โดย พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ ประธานอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ สนช. กล่าวว่าข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจที่จะส่งให้รัฐบาลนั้น ได้เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช. )เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้การทำงานของตำรวจ อัยการ ศาล มีการประสานงานอย่างใกล้ชิด โดยให้วุฒิสภา ควบคุมการบริหารงานประจำปี ส่วนการโยกย้าย และแต่งตั้งข้าราชการตำรวจนั้น จะต้องมีการนำผลการศึกษาอบรมมาใช้เป็นข้อมูลประกอบ เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง

พล.ต.ท.บุญเรืองกล่าวว่า พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ในการเลื่อนตำแหน่ง โดยต้องยึดหลักอาวุโสไม่น้อยกว่า ร้อยละ 50 ต้องดำรงตำแหน่งในสถานีตำรวจ และทำคดีไม่น้อยกว่า 70 คดี หรือด่านตรวจคนเข้าเมือง ไม่น้อยกว่า 2 ปี เว้นแต่ เป็นบุคคลที่สอบได้ลำดับที่ 1 ของแต่ละรุ่นในหลักสูตรสารวัตร, ผู้กำกับ หรือในหลักสูตรบริหารงานตำรวจขั้นสูง ที่จะได้สิทธิเลื่อนตำแหน่ง เมื่อมีคุณสมบัติพื้นฐานครบ

พล.ต.ท.บุญเรืองกล่าวว่า อนุกรรมาการฯ ได้ตั้งเป้าหมายว่า การปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปีแรก การคัดเลือกบุคคลเพื่อเป็นตำรวจ จะต้องมีวิธีและรูปแบบที่เหมาะสม ทั้งความประพฤติ ทัศนคติและจิตใจ ส่วนการแต่งตั้งผบ.ตร. นั้น จะต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จากนั้น ภายใน 3 ปี และจะต้องขยายงานสำนักงานพิสูจน์หลักฐานจังหวัด และสถานีตำรวจให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 และภายใน 5 ปี จะต้องนำระบบอิเลคทรอนิกส์ เข้ามาตรวจสอบ เพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชั่น พร้อมเร่งพัฒนาระบบกล้องวงจรปิดตามท้องถนน และระบบออนไลน์ให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาแผนการปฏิรูปกิจการตำรวจ คณะกรรมการประสานงานระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยังได้ศึกษาเรื่องงบประมาณของตำรวจ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆของข้าราชการตำรวจ ให้แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน เพราะเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการเสียชีวิต ทุพพลภาพ บาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการสูงกว่าข้าราชการพลเรือนถึง 13.56-22.57 เท่า

จึงเสนอให้ใช้อัตราอ้างอิงในต่างประเทศที่กำหนดให้ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญในระดับเดียวกัน 1.28 เท่า และข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ 1.74 เท่า โดยข้าราชการตำรวจชั้นประทวนบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้น 13,773 บาท จากเดิม 10,760 บาท ขณะที่ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรบรรจุใหม่ ควรมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ประมาณ 26,605 บาท จากเดิม 15,290 บาท และควรมีอัตราเงินเพิ่มเติมแก่ข้าราชการตำรวจสายงานป้องกันและปราบปราม สายงานจราจร และสายงานสืบสวนที่มีความเสี่ยงการปฏิบัติงานสูงกว่าตำรวจสายงานอำนวยการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้จัดสรรงบประมาณด้านการพัฒนาไอทีออนไลน์ในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าทางคดีได้ด้วยตนเอง โดยใช้ Usename และ Password แก่ประชาชนในการติดตามคดีด้วยตัวเอง ส่วนการปฏิรูประบบงานสอบสวนเสนอให้ปรับระบบการเข้าเวรของพนักงานสอบสวนประจำสถานีตำรวจจากเดิมเข้าเวรเดี่ยวเป็นเข้าเวรเป็นชุดพนักงานสอบสวน และควรมีการแยกคดีที่ต้องสืบสวนสอบสวนเป็นกรณีพิเศษออกจากการสืบสวนสอบสวนทั่วไป เช่น คดีที่มีความยุ่งยากซับซ้อน คดีผู้มีอิทธิพล คดีที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญระดับสูงเฉพาะทาง เพื่อให้หน่วยงานจากส่วนกลางมารับผิดชอบแทน ตลอดจนให้มีเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับตำแหน่งพนักงานสอบสวนเช่นเดียวกับข้าราชการในสายงานตามกระบวนการยุติธรรมอื่นเช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) อัยการ