เชียงใหม่ลุยรถไฟฟ้ารางเบางบกว่า 2 หมื่นล้าน

18 พ.ค. 2560 | 08:44 น.
รศ.ดร.บุญส่ง สัตโยภาส ผู้จัดการโครงการศึกษาและจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางโครงการจะมีการจัดสัมมนาครั้งสุดท้ายในเดินมิถุนายน 2560 เพื่อนำเสนอโครงข่ายทั้งสองและรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและข้อห่วงใยของประชาชนเพื่อจะสรุประบบขนส่งสาธารณะจังหวัดเชียงใหม่เพื่อนำเสนอต่อไป เมื่อพิจารณาโครงข่ายทางเลือกเสร็จสิ้นแล้วจึงจัดให้มีการออกแบบทางวิศวกรรมความเป็นไปได้ในการลงทุน หลังจากนั้นจะกระบวนการออกแบบดำเนินการก่อสร้างต่อไปผลการศึกษานี้คาดการณ์อีกไม่เกิน 3 เดือนจะต้องส่ง หลังจากนั้น สำนักนโยบายและแผนการจราจร (สนข.)ก็จะผลักดันเสนอขึ้นไป ครม.

"งบการลงทุนในระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจจะเป็นรัฐลงทุนทั้งหมด หรือร่วมทุนรัฐ-เอกชน แนวโน้ม ซึ่งต้องศึกษาถึงสภาพเงื่อนไขของเมืองของจังหวัดด้วย เชียงใหม่ไม่เหมือนขอนแก่น โดยจะมองทุกออฟชั่นที่เป็นไปได้เพื่อให้ได้แบบลงทุนที่ดีที่สุด เพื่อให้ระบบของเชียงใหม่มีความยั่งยืน"

รูปแบบของระบบขนส่งสาธารณะเชียงใหม่ จะเป็นรถไฟฟ้ารางเบาหรือ LRT  รูปแบบ A เป็นโครงข่ายที่ใช้ทางวิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน ประกอบด้วยเส้นทางหลัก 3 เส้นคือ สายสีแดง ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร เริ่มจากโรงพยาบาลนครพิงค์ผ่านศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700 ปี ผ่านศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ และใช้ทางวิ่งใต้ดินที่บริเวณทางแยกข่วงสิงห์ มุ่งสู่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ไปสนามบินเชียงใหม่เมื่อพ้นสนามบินเชียงใหม่กลับไปใช้เส้นทางวิ่งบนดินไปสิ้นสุดที่แยกบิ๊กซีอำเภอหางดง   ส่วนสายสีเขียว ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นจากแยกตลาดรวมโชคเข้าสู่ทางวิ่งใต้ดินที่โรงพยาบาลเทพปัญญา กาดหลวง เชียงใหม่ไนท์บาร์ซ่า เซ็นทรัลแอร์พอร์ต ถึงสนามบินเชียงใหม่”

รศ.ดร.บุญส่ง  กล่าวต่อไปว่า สายสีน้ำเงิน ระยะทาง 12 กิโลเมตร เริ่มต้นทางวิ่งใต้ดินจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เลี้ยวไปตามถนนคันคลองถึงสี่แยกต้นพะยอม มุ่งหน้าไปโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่พบกับจุดตัดสายสีแดงที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ผ่านคูเมืองไปพบกับจุดตัดสีเขียวที่เชียงใหม่ไนท์บาร์ซ่ากับจนถึงเส้นทางบนดินที่หนองป่าทีปวิ่งไปถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ไปสิ้นสุดที่แยกพรอมเมนาด้า

สำหรับโครงข่ายทางเลือกแบบB จะมีเส้นทางเหมือนโครงข่าย A แต่จะแตกต่างกันทั้งหมดคือวิ่งบนดิน เส้นทางสายสีน้ำเงินจะวิ่งอ้อมรอบคูเมืองทั้งหมด สำหรับทั้ง 2 โครงข่ายจะมีฟีดเดอร์หรือโครงข่ายรองโครงข่ายเสริมที่คอยเชื่อมให้คนที่อยู่นอกเส้นทางของระบบขนส่งสาธารณะหลักได้เข้ามาใช้เส้นทางโดยจะใช้ระบบรถเมล์เป็นหลัก