กสิกรไทยคาดศก.จีนที่เริ่มอ่อนแรงกระทบการส่งออกไทยไปจีนเพียงเล็กน้อย

18 พ.ค. 2560 | 06:57 น.
kasikonthai160360-696x408-1-696x408 คาดเศรษฐกิจจีนที่เริ่มอ่อนแรงกระทบการส่งออกไทยไปจีนเพียงเล็กน้อย … โดยยังคงขยายตัวได้ราวร้อยละ 7 ในปี 2560

จีนเริ่มต้นไตรมาสที่ 2/2560 ด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่อแววชะลอตัวลง โดยเฉพาะภาคการผลิต อันอาจส่งผลทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มแผ่วลงนับต่อจากนี้

ตัวเลขเศรษฐกิจจีนในเดือน เม.ย. 2560 บ่งชี้ถึงสัญญาณที่เริ่มอ่อนแรงของภาคเศรษฐกิจ ดังสะท้อนได้จากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 (YoY) รวมถึงดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตที่ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 6 เดือนนั้น ส่งสัญญาณว่าแนวโน้มกิจกรรมภาคการผลิตในระยะข้างหน้าคงทยอยชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน อันเป็นผลมาจากความพยายามในการบริหารจัดการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน เหล็กกล้า รวมถึงอลูมิเนียมและซีเมนต์

นอกจากนี้ มุมมองต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีนซึ่งนับเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักในช่วงไตรมาสที่ 1/2560 ที่ผ่านมา  ก็น่าจะเข้าสู่ทิศทางที่ชะลอลง โดยมีปัจจัยหลักมาจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของธนาคารกลางจีน โดยได้พยายามลดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อการปล่อยสินเชื่อรวมใหม่ (Mortgage loan to total incremental loan) ในปี 2560 นี้ ให้เหลือร้อยละ 30 จากร้อยละ 45 ในปี 2559  ในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2560 จนอาจส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชน และอุปทานของอสังหาริมทรัพย์ในระยะต่อไป

จากแนวโน้มการผลิตที่อาจจะอ่อนแรงลงในอุตสาหกรรมที่ทางการจีนพยายามปฏิรูป รวมถึงภาคการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ที่อาจชะลอลงตามการควบคุมการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของทางการจีน  ย่อมเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจจีน รวมถึงการจ้างงานและค่าแรงของแรงงานในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เติบโตในทิศทางที่ชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี 2560 หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ร้อยละ 6.9 (YoY) ในไตรมาสที่ 1/2560 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สัญญาณการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ และโมเมนตัมการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงดีอยู่มีส่วนช่วยประคองเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2560 ให้ยังคงขยายตัวได้ คาดเศรษฐกิจจีนปี 2560 ขยายตัวได้ร้อยละ 6.5

ถึงแม้จีนจะเผชิญความเสี่ยงที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ทว่า ยังคงมีปัจจัยที่ช่วยประคองเศรษฐกิจจีนให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ทางการวางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศหรือการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี

การค้าระหว่างประเทศของจีนยังคงมีแนวโน้มสดใส โดยการส่งออกของจีนในช่วง 4 เดือนแรกขยายตัวได้ร้อยละ 8.1 (YoY) ขณะที่การนำเข้าขยายตัวถึงร้อยละ 20.8 (YoY) โดยได้อานิสงส์จากฐานเปรียบเทียบของปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างต่ำ เศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง และการผ่อนคลายแรงกดดันด้านการค้าจากทางสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนจากการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของจีนในช่วงต้นเดือน เม.ย. 2560 ที่ผ่านมา ประกอบกับแนวโน้มการผลิตเพื่อส่งออกในระยะข้างหน้ายังคงเป็นบวกอยู่  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์มูลค่าการส่งออกของจีนในปี 2560 นี้จากเดิมที่กรอบร้อยละ 1.8 – 4.8 (ค่ากลางร้อยละ 3.5) มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 – 5.5 (ค่ากลางร้อยละ 4.2) โดยพลิกกลับมาเป็นบวกได้หลังจากหดตัวมากว่า 2 ปี ทั้งนี้ สินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ สมาร์ทโฟนและชิ้นส่วนประกอบ เครื่องรับโทรทัศน์ วิทยุและส่วนประกอบ โน้ตบุ๊กและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักไปยังตลาดสำคัญอย่าง สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป ทั้งนี้ การส่งออกที่เพิ่มขึ้นย่อมนำมาซึ่งการขยายตัวของภาคการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่องข้างต้น

นอกจากนี้ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่สูงกว่า 110 เป็นเวลา 2 เดือนติดกัน (มี.ค. – เม.ย. 2560) โดยตัวเลขดังกล่าวนับว่าอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปีและค่าที่สูงกว่า 100 บ่งบอกถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงเป็นบวก ได้สะท้อนมาสู่ยอดค้าปลีกที่ยังคงขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 10 (YoY) และน่าจะยังคงรักษาโมเมนตัมในระดับที่ดีตลอดปี 2560 ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของ GDP

จากเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าคาดในไตรมาสที่ 1/2560 ซึ่งขยายตัวได้กว่าร้อยละ 6.9 (YoY) ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงได้ปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2560 นี้มาอยู่ที่ร้อยละ 6.5 จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ร้อยละ 6.4 อย่างไรก็ตาม นับเป็นภาพที่ชะลอลงจากปี 2559 ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ร้อยละ 6.7 ทั้งนี้ ยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวังในช่วงที่เหลือของปี 2560 จากความเสี่ยงทางด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจและการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มจริงจังมากขึ้น

ส่งออกจีนในปี 2560 ที่ยังคงสดใส เป็นแรงผลักดันให้ส่งออกไทยไปจีนฟื้นตัวได้ร้อยละ 7

โมเมนตัมการฟื้นตัวของการส่งออกจีนที่เห็นได้ชัดตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/2559 เป็นต้นมา บวกกับการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตต่อเนื่อง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้าของจีนเพื่อมาตอบโจทย์สินค้าอุตสาหกรรมและการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวได้ดี และส่งผลทำให้การส่งออกของไทยไปยังจีนในช่วงไตรมาสที่ 1/2560 ขยายตัวได้กว่าร้อยละ 36.9 (YoY) จากฐานเปรียบเทียบของปีที่ผ่านมาที่ค่อนข้างต่ำ นำโดยวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพื่ออุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นยางพารา เม็ดพลาสติก ชิ้นส่วนยานยนต์ น้ำมันดิบ ซึ่งบางส่วนได้อานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ฟื้นตัว หรือสินค้าคงทนอย่างยานยนต์นั่งส่วนบุคคลและชิ้นส่วนประกอบ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การส่งออกของไทยไปยังจีนในปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 5.5-8.5 (ค่ากลางที่ร้อยละ 7.0) ทั้งนี้ ทิศทางการอ่อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์และการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมที่ทางการจีนพยายามปฏิรูป ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกไทยที่เกี่ยวข้อง อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า อย่างมีนัยสำคัญ

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย