“พรเพชร” เผยมีก.ม.จ่อคิวเข้าอื้อ - สนช.ก็เหมือน รพ.คนไข้เยอะก็ต้องรับไว้ ดูแลทุกร่างกฎหมาย

17 พ.ค. 2560 | 09:23 น.
“พรเพชร” เผยมีก.ม.จ่อคิวเข้าอื้อ - สนช.ก็เหมือน รพ.คนไข้เยอะก็ต้องรับไว้ ดูแลทุกร่างกฎหมาย

-17 พ.ค. 60 - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. ว่าสืบเนื่องจากมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทำให้ขณะนี้กฎหมายที่ค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการ จะต้องนำไปให้หน่วยงานที่เสนอกฎหมาย ไปดำเนินการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน พร้อมประเมินความเห็นอย่างเป็นระบบ คาดว่าตั้งแต่ต้นเดือนมิ.ย.-ส.ค. ร่างกฎหมายจะประดังเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. รวมถึงร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาช่วงต้นเดือนมิ.ย.ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสนช.อีกเดือนละ 1 ฉบับ ตนจึงต้องพยายามจัดสรรเวลาประชุมให้เหมาะสม และอาจกำหนดวันประชุมเพิ่ม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณงานว่าจะขยายวันหรือขยายเวลาการประชุม เพราะสนช.ทำงานเหมือนโรงพยาบาล ถ้าคนไข้ไม่มาก็เปิดน้อย ถ้าคนไข้มามากก็ต้องเปิดวันเวลามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอร่างกฎหมายอื่นๆ เข้ามา สมาชิก สนช.ทุกคนยังคงทำงานอย่างหนักในฐานะกรรมาธิการ

“ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หากฉบับไหนเสร็จก่อน สนช.จะพิจารณาวาระ 2-3 ในวันที่ 9 มิถุนายน และอีกฉบับจะพิจารณาในวันที่ 15 มิถุนายน ขณะที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ และร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ก็เป็นไปตามเวลาที่ต้องทำให้แล้วเสร็จ ซึ่งตนได้ส่งสัญญาณไปว่าถ้าไม่เสร็จก็ต้องทำวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วย” ประธาน สนช.กล่าว

ส่วนกรณีที่ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอให้ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป 36 ฉบับนั้น ประธาน สนช. กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวแล้ว ว่าต้องดูว่าเรื่องอะไร จะใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายทั้งหมดคงไม่ได้ ซึ่งตนเห็นด้วยกับนายวิษณุ เพราะอาจมีกฎหมายบางฉบับที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว รวมถึงกฎหมายบางฉบับที่ไม่ยุ่งยาก เขาก็คงรีบเร่งส่งไปกฤษฎีกาให้พิจารณา จากนั้น ก็ส่งมายังสนช.ได้ ขณะที่บางฉบับที่มีการต่อต้านก็คงต้องชะลอไว้ก่อน ทั้งนี้ สนช.เหลือเวลาทำงานประมาณ 1 ปี คงช่วยสปท.ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้มาตรา 44 โดยช่วง 1 ปีนี้ ถ้าสปท.ทำตามขั้นตอนแล้วส่งมา สนช.ก็ต้องพิจารณาและดำเนินการ

เมื่อถามว่าข้อเสนอของประธาน สปท. เท่ากับเสพติดการใช้มาตรา 44 หรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า ไม่มีการเสพติด คำนี้เป็นคำของใครผมไม่รู้ ไม่ใช่เรื่องที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไร ซึ่งคสช.มีหน้าที่ดูแลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แก้ไขสิ่งที่กฎหมายปกติแก้ไขไม่ได้ ส่วนการแก้ไขกฎหมายที่เป็นระบบ คสช.ก็ทราบดี เพราะที่ผ่านมาก็ไม่เคยแตะต้องกฎหมายหลัก จึงไม่มีอะไรเสพติด

ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัยของอาคารรัฐสภา หลังจากเกิดเหตุเสียงดังคล้ายระเบิดหน้าโรงละครแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา นายพรเพชร กล่าวว่า ในส่วนของสภาก็ระมัดระวังเต็มที่ เพราะที่ตั้งของสภาเป็นเขตพระราชฐาน ดังนั้น ระดับการรักษาความปลอดภัยอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังระวังเรื่องภัยธรรมชาติด้วย ซึ่งตนให้สำรวจว่ามีต้นไม้ใหญ่ที่จะต้องตัดแต่งกิ่งให้เรียบร้อยหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบสภาพเสาไฟฟ้าว่ามีความมั่นคงหรือไม่ ส่วนความปลอดภัยจากการเข้ามาก่อเหตุร้าย เราก็ระวังแต่ยอมรับว่าลำบาก เพราะสภาเป็นสถานที่เปิด แต่เราก็มีระเบียบการรักษาความปลอดภัยที่เคร่งครัด