สจล.ติด‘ปุ่มฉุกเฉิน’รถแท็กซี่ ลุ้นขนส่งทางบกออกประกาศเร็วๆนี้หวังระงับเหตุร้าย

20 พ.ค. 2560 | 09:00 น.
สจล.จับมือกรมการขนส่งทางบก รุกแก้ปัญหาแท็กซี่ไทยเจาะลึกรูปแบบการทำงานแอพพลิเคชัน “TAXIOK” ต่อยอดผลการศึกษาของม.บูรพา พร้อมชูฟังก์ชัน“ปุ่มฉุกเฉิน” กดทันทีเมื่อเกิดเหตุร้าย พลิกโฉมบริการแท็กซี่ในประเทศไทย

รศ.ดร.เอกชัย สุมาลี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนครอัจฉริยะ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ชื่อว่า “TAXI OK” สำหรับพัฒนาและยกระดับการให้บริการแท็กซี่ให้แก่กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) โดยเพิ่มการติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก(จีพีเอส) เพื่อควบคุมกำกับความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับรถ และเพื่อบริหารจัดการระบบเดินรถอันเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ดีขึ้นในภาพรวม 7 ด้านที่สำคัญ คือ 1.ระบบจัดการภาพนิ่ง 2.ระบบแสดงตำแหน่งรถแท็กซี่ 3.ระบบแสดงความต้องการใช้แท็กซี่ 4.ระบบร้องเรียนและแจ้งเหตุฉุกเฉิน 5.ระบบตรวจสอบพฤติกรรมการขับรถ 6.ระบบจัดการและประเมินศูนย์แท็กซี่เอกชน และ 7.ระบบจัดการและประเมินพนักงานขับรถ

[caption id="attachment_150957" align="aligncenter" width="503"] สจล.ติด‘ปุ่มฉุกเฉิน’รถแท็กซี่ ลุ้นขนส่งทางบกออกประกาศเร็วๆนี้หวังระงับเหตุร้าย สจล.ติด‘ปุ่มฉุกเฉิน’รถแท็กซี่ ลุ้นขนส่งทางบกออกประกาศเร็วๆนี้หวังระงับเหตุร้าย[/caption]

โดยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะนำไปใช้กับแท็กซี่มิเตอร์ทุกคัน ซึ่งขณะนี้ทั่วประเทศมีรถแท็กซี่ขึ้นทะเบียนกับขบ.(ยอดเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2560) จำนวน 92,829 คัน ถือเป็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาการให้บริการของแท็กซี่ในประเทศไทยได้บ้างในส่วนของผู้ประกอบการที่หันมาใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และมีแอพพลิเคชั่นในการให้บริการ แต่สำหรับแท็กซี่ทั่วไปยังไม่มีการติดตั้งระบบที่ว่านี้ จึงเป็นการยากในการควบคุมมาตรฐานการให้บริการและความปลอดภัย

“หากเจาะลึกรายละเอียดและรูปแบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาสำหรับแท็กซี่ของขบ.นั้น หลักการทำงานจะเชื่อมโยงข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟนของผู้โดยสารไปยังรถแท็กซี่ที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking และแอพพลิเคชั่น TAXI OK ซึ่งสามารถเรียกรถแท็กซี่ได้ทุกสหกรณ์ จากนั้นข้อมูลจากรถแท็กซี่จะถูกส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการย่อของแต่ละสหกรณ์ที่สังกัดอยู่ และข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์บริหารจัดการแท็กซี่ของขบ.อีกต่อหนึ่ง การเชื่อมต่อของระบบผ่านเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินรถจะช่วยให้สามารถส่งค่าตำแหน่งพิกัดการเดินรถ ความเร็ว สถานะเครื่องยนต์ การแสดงตนของผู้ขับขี่ รายงานค่ามิเตอร์ และข้อมูลการจองรถ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อกับปุ่มเปิด-ปิดสถานะไฟว่าง กล้องบันทึกภาพซึ่งจะมีการบันทึกภาพทุก 1 นาที และปุ่มฉุกเฉินรายงานเหตุฉุกเฉินแบบเรียลไทม์”

โดยในครั้งนี้แอพพลิเคชั่น “TAXI OK” ที่สจล.ร่วมกับคณะโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา พัฒนาให้กับขบ. เน้นใน 7 ด้านสำคัญข้างต้นพร้อมชูฟังก์ชั่นปุ่มกดฉุกเฉิน(Emergency Push Button) ซึ่งใช้ได้ทั้งคนขับและผู้โดยสาร ในการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้ายเพื่อการเข้าช่วยเหลืออย่างทันท่วงที คาดว่า ขบ.กำลังทบทวนการออกประกาศให้แท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคันติดตั้งในเร็วๆ นี้ ส่วนแท็กซี่เก่าทั้งที่ไม่เคยติดตั้งหรือติดตั้งระบบคล้ายกันนี้ แต่ไม่เป็นไปตามประกาศดังกล่าวจะอนุโลมให้เข้ามาติดตั้งภายใน 2-3 ปีอันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทั้งระบบ

“ถือเป็นรูปแบบที่ทั่วโลกใช้ควบคุมการและได้ผลลัพธ์ที่ดี อันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ไม่เคยใช้มาก่อนในประเทศไทย เชื่อว่าหากทำได้จริงจะช่วยให้การควบคุมและป้องกันปัญหาต่างๆ ทั้งการไม่รับผู้โดยสาร การขับรถออกนอกเส้นทาง มิเตอร์โกงราคา หรือทะเลาะวิวาท และการคุกคามทางเพศ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในภาพรวมไม่เพียงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวไปพร้อมกัน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560