ดีมานด์เทียม ‘กู้บ้าน’ ธปท.ห่วงแคมเปญ ต้นตอหนี้เน่าพุ่ง

19 พ.ค. 2560 | 06:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

แบงก์ชาติปูดแบงก์แห่อัดแคมเปญจูงใจก่อหนี้ที่อยู่อาศัยเมื่อ 3 ปีก่อนพ่นพิษ ลูกค้าผ่อนไม่ไหว ต้นเหตุทำให้เอ็นพีแอลไตรมาสแรกพุ่ง ขณะที่แนวโน้มหนี้เสียยังเพิ่มไม่หยุด ลั่นรอเศรษฐกิจฟื้นชัดเจนเริ่มเห็นทรงตัว คาดสินเชื่อทั้งปีโตอยู่ที่ 4-6%

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อด้อยคุณภาพ หรือเอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2560 มีทิศทางเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.94% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ 2.83% หรือคิดเป็นมูลค่าจาก 3.85 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 4.04 แสนล้านบาท แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นแต่เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอตัวลง

เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นมาจากทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ ทั้งในส่วนของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มอุปโภคบริโภค ขณะที่สินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ปรับลดลงจาก 2.63% มาอยู่ที่ 2.61%
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลในไตรมาสที่ 1 จะเห็นในส่วนของกลุ่มเอสเอ็มอีมากกว่ากลุ่มอื่น โดยปรับขึ้นไตรมาสที่ 4 ปี 2559 อยู่ที่ 4.35% มาอยู่ที่ 4.48% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2560

[caption id="attachment_150937" align="aligncenter" width="503"] ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)[/caption]

ขณะที่กลุ่มสินเชื่อขนาดใหญ่ จะเห็นการด้อยลงในบางเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมและภาคพาณิชย์ เช่น ค้าปลีกค้าส่ง อาหาร เหล็ก และโลหะหนัก เป็นต้น โดยมีเอ็นพีแอลรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.59% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 1.47%
ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากธุรกิจที่มีสายป่านสั้นจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดีจะเห็นเอ็นพีแอลบางเซ็กเตอร์ที่ชะลอการปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพกลุ่มสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกันจากระดับ 2.71% มาอยู่ที่ 2.82% โดยการเพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสำคัญ แม้ว่าสินทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยจะเป็นหนี้เสียท้ายสุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น แต่หนี้เสียสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 2.93% มาอยู่ที่ 3.23%

การปรับเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น สะท้อนไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และส่วนหนึ่งเป็นผลพ่วงมาจากการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในช่วง 2-3 ปีก่อนหน้าที่มีแข่งขันปล่อยสินเชื่อผ่านผลิตภัณฑ์พิเศษที่เน้น 3 ปีแรก จ่ายอัตราดอกเบี้ยต่ำ และจ่ายเพิ่มขึ้นช่วงหลัง ทำให้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะเป็นการเพิ่มภาระการผ่อนจ่ายของผู้กู้ให้สูงขึ้นทำให้มีผลต่อหนี้ด้อยคุณภาพ

“เรื่องนี้แบงก์ชาติและธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่าอัตราหนี้เสียจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาวะการแข่งขันไม่มีสัญญาณความรุนแรงเมื่อเทียบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะเห็นเอ็นพีแอลปรับลดลงนั้น ธปท.ประเมินว่าหากเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน จะเห็นอัตราการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอลค่อยๆทรงตัวและนิ่งได้ หลังจากนั้นน่าจะปรับลดลงได้ เนื่องจากเอ็นพีแอลจะเป็นตัวตามเศรษฐกิจใช้เวลาประมาณ 2-3 ไตรมาส แต่อาจจะตอบยากว่าจะเห็นเอ็นพีแอลลดลงช่วงไหน เพราะเศรษฐกิจมีการเติบโตแต่ละช่วงเวลาไม่เหมือนกัน

สำหรับภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อทั้งปี ภายหลังจากที่มีการพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์ จะเห็นว่าเงื่อนไขสำคัญของการเติบโตสินเชื่อ จะเป็นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากภาครัฐพยายามส่งเสริมให้เกิดการลงทุน หากการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมายคาดว่าสินเชื่อทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ที่ระดับ 4-6% จากไตรมาสที่ 1 เติบโตได้ 2.8% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 11.95 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2559 ที่ขยายตัวอยู่ที่ 2% ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยการฟื้นตัว แต่ยังได้รับแรงกดดันจากภ่วะหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงทำให้การเติบโตสินเชื่ออาจจะยังไม่สูงมากนัก

ทั้งนี้การขยายตัวของสินเชื่อ 2.8% ในไตรมาสแรกมาจากสินเชื่อธุรกิจที่มีสัดส่วนประมาณ 67.4% ของสินเชื่อรวม มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 2% โดยสินเชื่อรายใหญ่กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 3.9% หลังจากหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 และสินเชื่อเอสเอ็มอีเติบโตอยู่ที่ 2.2% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 1.8% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 4.6% ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 4.9% ซึ่งชะลอตัวลงในเกือบทุกประเภท ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่เติบโตได้ 2.8%

ขณะเดียวกันยอดการอนุมัติสินเชื่อ สินเชื่ออุปโภคบริโภคอยู่ที่ 43% ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 42.9% ส่วนสินเชื่อธุรกิจยอดอนุมัติอยู่ที่ 64.5% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 64%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560