ไทย-ปากีสถาน เร่งเดินหน้าหาข้อสรุปเจรจา FTA ภายในปีนี้

17 พ.ค. 2560 | 01:30 น.
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หัวหน้าผู้แทนไทยในการประชุมเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน ครั้งที่ 7 ณ กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่จะเร่งหาข้อสรุปรายการสินค้าที่ต้องการให้มีการเปิดตลาดระหว่างกัน รูปแบบการลดภาษี (modality) และกฎถิ่นกำเนิดเฉพาะรายสินค้า นอกจากนั้น จะมีการหารือในประเด็นคงค้างในส่วนของข้อบทด้านการค้าสินค้า ข้อบทด้านกระบวนการทางศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า และประเด็นด้านกฎหมายอื่นๆ ซึ่งในการเจรจา 6 ครั้ง ที่ผ่านมา ได้มีความคืบหน้าไปมาก โดยทั้งสองฝ่ายสามารถสรุปผลการหารือในส่วนของข้อบทได้ 12 ข้อบทจากทั้งหมด 14 ข้อบทแล้ว ในการนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรเร่งสรุปผลการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน ให้ได้ภายในปีนี้ตามเป้าที่ตั้งไว้
การจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-ปากีสถาน จะช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดการค้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ และตะวันออกกลางได้มากขึ้น เนื่องจากปากีสถานยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเป็นประตูการค้าเพื่อกระจายสินค้าของไทย เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศ ไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และประเทศจีนตอนกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจ ในขณะที่ปากีสถานก็สามารถใช้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียน เป็นการเพิ่มโอกาสในการส่งออกโดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบ ซึ่งปากีสถานยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีค่าเป็นจำนวนมาก และเพิ่มโอกาสในการลงทุนของทั้งสองประเทศ

ปัจจุบัน ไทยให้ความสำคัญกับปากีสถานในฐานะตลาดส่งออกที่มีศักยภาพและเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย มีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยในปี 2559 ปากีสถานเป็นคู่ค้าอันดับที่ 38 ของไทยในตลาดโลก การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 1,134 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 9.8 โดยการส่งออกมีมูลค่า 1,015 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 11.19 และการนำเข้ามีมูลค่า 119 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากปีก่อนหน้าร้อยละ 0.82 ทั้งนี้ การค้าระหว่างไทยกับปากีสถานในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (2555-2559) มีมูลค่าเฉลี่ย 1.04 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อปี มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.33 ต่อปี และมีสัดส่วนการค้าเฉลี่ยร้อยละ 0.23 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด

สินค้าที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย ได้แก่ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เส้นใยประดิษฐ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่อง เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น และสินค้านำเข้าจากปากีสถาน ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป ด้ายและเส้นใย ผ้าผืน สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เป็นต้น