นายกฯลงนามตั้ง"บวรศักดิ์" ประธานที่ปรึกษาปฏิรูปกฎหมาย

16 พ.ค. 2560 | 13:13 น.
วันนี้ (16 พ.ค. 60) - ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 123/2560 แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ พร้อมด้วยกรรมการอีก 22 คน

โดยคำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งที่ 7/2560 ลงวันที่ 2 ก.พ. 2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากลั่นกรองเรื่องเสนอคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุททธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นั้น เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ย.ป.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิดประสิทธิผลอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) และ (9) แห่งพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย ประกอบด้วย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ, นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาและกรรมการ

ส่วนกรรมการอีก 19 คน ได้แก่ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน,  เลขาธิการคณะรัฐมนตรีหรือผู้แทน,  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน,   เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือผู้แทน,   ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทน,    ผู้แทนคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน  (กกร.),     นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล,   นายกิตติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, นายคำนูญ สิทธิสมาน, นายณรงค์เดช สุรโฆษิต, นายบรรเจิด สิงคเนติ, นายพนิต ธีรภาพวงศ์, นายไพสิฐ พานิชกุล, นายวิชญะ เครืองาม, นายเสรี นนทสูติ, นายอภิชน จันทรเสน โดยมีผู้แทนสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ, ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับอำนาจหน้าที่ ได้แก่
1.พิจารณาการปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
2.พิจารณาปรับปรุงกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่มีผลบังคับใช้อยู่ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
3.พิจารณาเสนอกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
4.กำกับการเสนอกฎหมาย หรือกฎข้อบังคับให้สอดคล้อง และไม่ขัดหรือแย้ง หรือเป็นอุปสรรคต่อยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ
5.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อให้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ มอบหมาย
6.ขอความร่วมมือจากส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้ส่งเอกสาร ข้อมูล ความคิดเห็น หรือการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน รวมทั้งร่วมมือกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือองค์การภาคเอกชน หรือองค์การต่างประเทศหรือระหว่างประเทศในการปฏิรูปกฎหมาย
7.รายงานข้อเสนอแนะและผลการดำเนินงานต่อนายวิษรุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศเป็นระยะ
8.ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบหมาย

ทั้งนี้ ในการประชุมของคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ กำหนดให้ต้องมีกรรมการมาประชุมอย่างน้อย 1 ใน 3 ของคณะกรรมการฯ จึงถือเป็นองค์ประชุม