พอเพียงอย่างพอใจ : EARTH...บทเรียนราคาแพงของเจ้าของหุ้น

16 พ.ค. 2560 | 11:51 น.
พอเพียงอย่างพอใจ
โดย : ฉาย บุนนาค

EARTH...บทเรียนราคาแพงของเจ้าของหุ้น

อาทิตย์ที่ผ่านมาคงไม่มีนักลงทุนคนไหนไม่รู้จักหุ้น EARTH จากการที่ราคาปรับลดลงถึง 2 ฟลอร์ ราคาหุ้น 4 บาทกว่า ลดลงสู่ 2 บาทกว่า ทำให้มูลค่า Market Cap หายไปกว่า 8,000 ล้านบาท

จุดกำเนิดของ หุ้น EARTH บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) มาจากการแปลงร่าง แลกหุ้น หรือ Backdoor เข้าจดทะเบียนชื่อ APC หรือ บริษัท แอ๊ดว้านซ์เพ้นท์ แอนด์ เคมิเคิล (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจสีทาบ้านและเจ๊งไป

ณ วันนั้น ผู้ถือหุ้น EARTH จ่ายเงินค่าหัวบริษัทแสนถูกราคาเพียง 60-65 ล้านบาท ให้กับเจ้าของเดิมของ APC...

ในปี 2554 EARTH กลับมาซื้อขายในชื่อใหม่ ธุรกิจใหม่...ราคาหุ้นขึ้นจาก 2 บาท ไปเกือบ 8 บาทอย่างร้อนแรง ควบคู่ไปกับธุรกิจถ่านหินที่มั่นคงและผลประกอบการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

EARTH ถือว่าเป็นบริษัทที่ดี ในสายตานักลงทุนมากว่า 6 ปี แถมปี 2558 ยังมีผู้ร่วมทุนต่างชาติมาเพิ่มทุนที่ราคา 7 บาท กว่า 527 ล้านหุ้น โกยเงินเข้าบริษัทไป 3,500 ล้านบาทและยังมีการลงทุนใหม่มากมายอย่างต่อเนื่อง

คำถามคือ
ใครขายหุ้น EARTH ในราคาแสนถูกเช่นนี้?? อะไรคือเหตุผลและแรงจูงใจ??
ทำไมถึงต้องรีบขายด้วยวิธีการขายเยี่ยง “หนีตาย”??
ทำไมบริษัทที่ดี และค่อนข้างมั่นคงขนาดนี้ ถึงพบชะตากรรมเยี่ยงนี้ ??

คำตอบสรุปเรื่องราวง่ายๆ คือ
1. ผู้ถือหุ้นใหญ่ขาย เพราะถูก Force Sell จาก Margin Loan
2. ที่ขายเพราะไปกู้เงินมาโดยเอาหุ้นไปคํ้า และหลักประกันมูลค่าไม่พอ
3. การขายแบบนี้คือการขายจากเจ้าหนี้ Margin Loan ซึ่งจะขายทุกราคาจนกว่าจะได้หนี้คืนครบ
4. ความโลภ และความประมาทของผู้ถือหุ้นใหญ่ คือต้นเหตุของความเสียหายครั้งนี้

แนวคิดที่ผิด
ผมเห็นใจผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ต้องถูก Force Sell หุ้นในราคาแสนถูก ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ตั้งใจซื้อหุ้นในราคา 4 บาท ถึง 5 บาทมาโดยตลอด...

แต่ความประมาทคิดว่าบริษัทตนเองดี ราคาถูก และทุ่มเงินซื้อรักษาราคาหุ้นตนเอง โดยลืมถึงกลไกตลาดที่แท้จริงว่า
“ราคาตลาด” มาจาก demand และ supply ของมหาชน เป็นสิ่งที่เสี่ยงอย่างมาก...

มิหนำซํ้า เงินที่ใช้ซื้อหุ้นไม่ใช่เงินเย็น หรือ เงินออม แต่เป็นเงินกู้ยืม Margin Loan (เงินกู้มหันตภัย)

Margin Loan คือ สิ่งที่อันตรายมากสำหรับนักลงทุน เพราะมันคือเงินกู้ที่ไม่มีกำหนดเวลาการคืน เราจึงวางแผนล่วงหน้าไม่ได้ วันดีคืนดี ตลาดหุ้นเกิดอาการ Panic ส่งผลให้หุ้นซึ่งเป็นหลักประกันตก และเราไม่มีเงินจ่ายหนี้ทันเวลา เราอาจจะต้องถูกบังคับขายหุ้นพื้นฐานดีเช่นเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ EARTH ทำนั้นเสมือนการว่ายสวนกระแสนํ้า...

ความโลภ
อีกเหตุผลที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ไปกู้เงินโดยการเอาหุ้นไปคํ้านั้น มาจากการต้องการนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่น ซึ่งในกรณีนี้คือธุรกิจ Media ที่เยอรมนี ซึ่งผมเข้าใจว่าลงไปกว่าพันล้านบาท โดยคาดว่าจะได้เงินกำไรกลับมาคืนหนี้ Margin Loan ก้อนนี้ การคิดพิสดาร นำเงินกู้ Short Term และอันตรายเช่น Margin Loan ไปลงทุนระยะยาวในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยเป็นสิ่งที่ไม่น่ากระทำสำหรับวิญญูชน

บทเรียนนี้ควรเป็นอุทาหรณ์สอนใจนักลงทุน และผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนคิดลงทุนใดๆ อีก จากเงินที่ไม่ใช่เงินเย็น

แม่ผมบอกว่ามี 2 สิ่งที่ทำลายทรัพย์สินและเงินทองได้เร็วที่สุด นั้นคือ ไฟและการพนัน...
ส่วนผมอยากเติมสิ่งที่ 3... นั้นคือ Margin Loan สำหรับซื้อหุ้น!!!

คอลัมน์ : พอเพียงอย่างพอใจ /หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3262 ระหว่างวันที่18-20 พ.ค.2560