จี้รื้อแพ็กเกจอีโคคาร์2ฮอนด้า-มาสด้าชงรัฐบาลเน้นเท่าเทียม

18 พ.ค. 2560 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หลังจาก“บีโอไอ”เปิดแผนส่งเสริมการลงทุนใหม่ให้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด โดยหวังชักจูงให้ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ และชิ้นส่วนสำคัญหันมาใช้ไทยเป็นฐานผลิต เพื่อต่อยอดความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นไปตามทิศทางทางของโลก

ไม่มีใครปฎิเสธการมาของเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่การผลักดันส่งเสริมจำเป็นต้องพิจารณาในหลายมิติ ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้ ความมั่นคงด้านพลังงาน และผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเดิมที่กำลังเดินตามนโยบายที่รัฐบาลเคยโปรยยาหอมเอาไว้

ขณะเดียวกันในภาคการผลิต แม้ทุกค่ายจะมีเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้าในมือ แต่การชิงจังหวะในการแนะนำโปรดักต์ใดๆเข้าสู่ตลาดต้องมีความรอบคอบ ที่สำคัญการที่แต่ละค่ายมีอาวุธในมือต่างกัน ย่อมส่งผลโดยตรงต่อความได้เปรียบในเชิงต้นทุน

ส่วนการขยับแผนของรัฐบาลที่เดิมเข้าใจว่าจะมุ่งเป้าใหญ่ไปยังรถอีวี (พลังงานไฟฟ้าล้วน) และมีปลั๊ก-อินไฮบริดเป็นทางผ่าน แต่การประกาศแผนส่งเสริมล่าสุดมีรถยนต์ไฮบริดกลับมาแจ้งด้วย และได้สิทธิประโยชน์ที่สวยหรู อย่างลดภาษีสรรพสามิตลงมาครึ่งหนึ่งในทุกอัตราการปล่อยไอเสีย หรือจากต่ำสุด 10% จะเหลือเพียง 5% หากผลิตตามเงื่อนไขที่กำหนด(ขณะที่อีวี เสียภาษีสรรพสามิต 2%)

โดยเกมนี้ถือว่าเข้าทางยักษ์ใหญ่โตโยต้าเต็มๆ เพราะมีเทคโนโลยีไฮบริดในมือ และเคยประกาศว่าจะนำเทคโนโลยีไฮบริดไปใส่ในรถยนต์คอมมอนโปรดักต์ทุกรุ่นที่ทำตลาดทั่วโลก

ขณะเดียวกันความถนัดใช้แบตเตอรี่แบบนิเกิลเมทัลไฮดราย ของโตโยต้าทำให้หลายค่ายรถยนต์หวั่นว่า หากโตโยต้าบูมกระแสไฮบริดให้เกิดขึ้นจริง พร้อมทำราคาได้น่าจูงใจจากสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากรัฐบาล จะทำให้การเกิดของรถปลั๊ก-อินไฮบริด และอีวี ที่ใช้ลิเธียมไอออน ที่มีราคาแพงกว่าเกิดขึ้นได้ยาก

“นิเกิลเมทัลไฮดรายเป็นแบตเตอรีเทคโนโลยีเก่า และการใช้จะหยุดอยู่ที่รถไฮบริด แต่รัฐบาลกลับสนับสนุนให้อยู่ในแพกเกจการลงทุนฉบับใหม่ ดังนั้นหากทำราคาได้ดีก็มีโอกาสแย่งดีมานด์ในตลาดไป ส่งผลให้การต่อยอดเทคโนโลยีไปยังเป้าหมายสุดท้ายอย่างอีวีที่ใช้แบตเตอรีลิเธียมไอออนยากขึ้น” พิทักษ์ พฤทธิสาริกร” ซีโอโอ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย กล่าวและว่า

ในฐานะคนไทยจึงเป็นห่วงว่ารัฐบาลจะเสียรายได้จากการเก็บภาษีในส่วนนี้(รถไฮบริด)มหาศาล ขณะเดียวกันเมื่อให้สิทธิพิเศษรถไฮบริดขนาดนี้ ควรพิจารณาแพกเกจอย่าง อีโคคาร์เฟส2 ให้สมดุลกันด้วย เพื่อไม่ให้สิทธิประโยชน์เหลื่อมล้ำกันมากเกินไป

ขณะที่นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การสนับสนุนของรัฐบาลที่มีต่อนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรพิจารณาเงื่อนไขของโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 ให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกับนโยบายใหม่ที่รัฐกำลังจะก้าวเดินไปด้วย

“สิ่งที่เราต้องการคือเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกันระหว่างอีโคคาร์ เฟส 2 และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ เพราะอีโคคาร์สามารถจับจับต้องได้ทันที ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่อยากได้รถยนต์ในราคาที่เหมาะสม และประหยัดน้ำมัน”

นายธีร์ กล่าวว่า อีโคคาร์ เฟส 2 เป็นโครงการระยะยาว ที่มีเงื่อนไขรายละเอียดต่างๆออกมาครบถ้วน แม้มาสด้า2 ยังขายดีในปัจจุบัน แต่เมื่อไปดูเงื่อนไขที่ต้องผลิตให้ครบ 1 แสนคันในปีที่ 4 ทำให้เราต้องเริ่มพูดคุยและทำงานร่วมกับรัฐบาลในกรณีที่ยอดผลิตไม่ถึง จะต้องทำอย่างไร

ขณะที่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นอย่างซูซูกิและนิสสัน ต่างเห็นผ้องไปในทิศทางเดียวกันว่า การออกนโยบายแจ้งเกิดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าหรือไฮบริด ไม่ควรทำให้เกิดกระทบกับอีโคคาร์เฟส 2 มากจนเกินไป

…ถ้าหมากในเกมใหม่ยังโน้มเอียงไปทางไฮบริดได้หรือมีโอกาสเอื้อประโยชน์ให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ คนที่เล่นอยู่ในกระดานอีโคคาร์เดิม ก็หวังว่าเงื่อนไขที่เคยตกลงกันไว้ น่าจะดิ้นได้เช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560