CEO ต้องเป็นเหมือนคอนดักเตอร์

19 พ.ค. 2560 | 08:00 น.
กุมบังเหียนกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่าง “MBK GROUP”ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลก ธุรกิจ ลูกค้า และพนักงาน กลายเป็นความท้าทาย“สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)ด้วยความหลากหลายของธุรกิจ ผู้ถือหุ้น และกลุ่มลูกค้า ทำอย่างไรที่เขาจะคงไว้ซึ่งกำไร เงินปันผล และความเชื่อมั่นจากผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

"สุเวทย์" สะท้อนมุมมองเล็กๆ ให้ฟังก่อนขยายถึงคีย์ซัคเซสของ "MBK GROUP" ว่า

การมีธุรกิจหลากหลายมองเป็นข้อดี คือ ทำให้สามารถบาลานซ์พอร์ต บาลานซ์ธุรกิจได้ เพราะธุรกิจมีขึ้นๆ ลงๆ ถ้าสามารถปรับและดูแลจะทำให้มีกำไรยั่งยืน ถาวร หากทำอย่างเดียวจะมีความเสี่ยงมากกว่า

หนึ่งในคีย์ซัคเซสของเอ็มบีเค คือ การบริหารจัดการ Back Office จากศูนย์กลาง โดยทำหน้าที่ควบคุมดูแล เช่น บัญชี การเงิน จะเป็นผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน ที่ทำหน้าที่ควบคุม ตรวจสอบ และอุดช่องว่าง ขณะที่แต่ละกลุ่มธุรกิจต่างก็ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างอิสระและเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีการรั่วไหล หรือฉ้อโกง

หน้าที่ของ CEO คือ การเป็นเหมือนคอนดักเตอร์ กำกับ ควบคุม ให้แต่ละคนดำเนินงานได้ หากมีปัญหา หรือติดขัด เราก็ติดตาม มอนิเตอร์ ร่วมกันแลกเปลี่ยน ร่วมกันตัดสินใจ ว่าจะเดินต่อ หรือจะทำอย่างไร

[caption id="attachment_150401" align="aligncenter" width="503"] สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) สุเวทย์ ธีรวชิรกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)[/caption]

" MBK GROUP มีวันนี้ เพราะมีฐานที่ดี การเงินที่แน่น บางคนมองว่าการมีหลากหลายทำให้เราไม่เก่ง แต่เรากลับมองว่า การมีธุรกิจหลากหลายทำให้เราสามารถปรับตัวได้ สามารถทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้สม่ำเสมอ เพราะผู้ถือหุ้นจะเชื่อว่า เราสามารถทำกำไรคืนให้กับผู้ถือหุ้นได้"

การก้าวเข้าสู่โลกยุค 4.0 ทำให้วันนี้ "MBK GROUP" ต้องลุกขึ้นมาปรับในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ "Big Data"

"สุเวทย์" บอกว่า ในโลกอนาคต คนที่มีฐานข้อมูล หรือบิ๊กดาต้า จะได้ประโยชน์มากขึ้น แต่ปัญหาที่เอ็มบีเค กำลังเผชิญคือ ความแตกต่างของกลุ่มลูกค้าแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีความหลากหลายมาก ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ กลุ่มแมสเซนเจอร์ ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก ทำให้การรวบรวมข้อมูลเป็นเรื่องยาก แต่ในความยาก ก็สร้างความได้เปรียบถ้าทำได้ จะเป็นบิ๊กดาต้าที่มีฐานลูกค้ามากมาย และเมื่อจัดวางระบบสำเร็จ จะทำให้การบริหารจัดการข้อมูล สร้างโอกาสในการขายสินค้าและ บริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้อย่างแท้จริง

"อนาคตเราต้องการดึงลูกค้าที่มาช้อปปิ้งในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ให้มาพักที่โรงแรมปทุมวันปริ้นเซส , หลังจากลูกค้าพักที่โรงแรม ก็เดินทางไปตีกอล์ฟต่อที่สนามของเราได้ การมีฐานข้อมูลลูกค้าที่ดี จะทำให้เราสามารถนำเสนอสิ่งดีๆ ให้กับเขา และเบลนธุรกิจเข้าด้วยกัน"

ขณะนี้บิ๊กดาต้าของ MBK GROUP เดินหน้าไปแล้ว 20-30% คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในปีหน้า แต่สิ่งที่จะเห็นก่อนคือ Appication ซึ่งจะลูกค้าสามารถดาวน์โหลดไว้ในสมาร์ทโฟน นำติดตัวและเลือกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ ซึ่งแอพพลิเคชั่นนี้จะเผยโฉมให้ได้ใช้งานภายในสิ้นปีนี้ ถือเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยทำให้นักช้อปสะดวกมากยิ่งขึ้น และเป็นรอยัลตี้ โปรแกรมที่แตกต่างจากผู้อื่น

เส้นทางของ MBK GROUP ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า "สุเวทย์" บอกว่า การก้าวเดินและเติบโตจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่หวือหวา เพราะการทำธุรกิจวันนี้ "ไม่ง่าย" คู่แข่งที่แข็งแรงขึ้น ทำให้ต้องเร่งสร้างคนและกำหนดมาตรฐาน โดยเฉพาะงานด้านบริการ

"ธุรกิจเซอร์วิส สิ่งสำคัญคือ "คน" การบริหารคนวันนี้ ไม่เหมือนในอดีต คนแต่ละเจนเนอเรชั่น ไม่เหมือนกัน การดูแลต้องแตกต่างกัน วันนี้ "MBK GROUP" กำลังเผชิญกับปัญหา "ขาดแคลน"เช่นเดียวกับหลายๆ ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อทีมบริหารอยู่ในยุคเบบี้บูม ส่วนทีมปฏิบัติงานอยู่ในเจนเนเรชั่นใหม่ที่ขาดแรงจูงใจ และสรรหาสิ่งใหม่ๆ เสมอ ระดับหัวหน้าที่จะมาสานงานต่อขาดหาย หน้าที่การทำงานของเบบี้บูม จึงต้องหนัก และเดินหน้าต่อ"

แต่ "สุเวทย์" ก็คาดหวังว่า 4-5 ปีจากนี้ไป เอ็มบีเคและ ประเทศไทยจะก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้

การทำงานที่ใช้ตัวเองเป็น "ต้นแบบ" ทำให้ "สุเวทย์" ยังสนุกกับการได้ลุยงานเต็มที่ ได้คลุกคลีกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป สนุกกับการได้อ่าน "Line" นับพันข้อความต่อวัน และสุดท้ายไม่ลืมที่จะส่งคืนสิ่งดีๆ กลับสู่สังคมในรูปแบบของ CSR ที่เขาสนับสนุนเต็มที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560