‘การีน่ากรุ๊ป’สู้ศึกอาลีบาบา สตาร์ตอัพใหญ่อินโดฯระดมทุนจากมหาเศรษฐี

19 พ.ค. 2560 | 12:00 น.
“การีน่า” ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพให้บริการเกมออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่เมืองอิเหนา ซึ่งมี เทนเซ็นต์จากจีนและ 2 มหาเศรษฐีหนุ่มอินโดฯและฟิลิปปินส์หนุนหลัง ประกาศระดมทุนและรีแบรนด์ เพื่อสู้ศึกอาลีบาบาและ เจดีดอตคอม แย่งตลาดอินโดนีเซีย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การีน่า ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพชื่อดังและมีมูลค่ามากที่สุดรายหนึ่งของอาเซียน ก่อตั้งมาแล้ว 8 ปีรีแบรนด์ชื่อกลุ่มบริษัทจาก การีน่าเป็น ซี (SEA) ซึ่งเป็นตัวย่อของ Southeast Asia เพื่อรับมือจากคู่แข่งจากนอกและในประเทศอินโดนีเซีย และเตรียมระดมทุน 550 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 19,250 ล้านบาท)

รายงานข่าวระบุว่าการระดมทุนครั้งใหม่ของ การีน่าได้รับการสนับสนุนจาก เทนเซ็นต์ ยักษ์อินเตอร์เน็ตจากจีนและนาย มาร์ติน ฮาร์โตโน (Martin Hartono) ลูกมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของอินโดนีเซีย ในนามบริษัท จีดีพีเวนเจอร์ส และ นาย จอห์น โกคองเว่ย (John Gokonwei) ลูกชายมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของฟิลิปปินส์ ในนามบริษัท เจจีซัมมิท โฮลดิ้งส์ฯ

นอกจากนักลงทุนใหญ่ 3 รายนี้แล้ว การีน่า ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทลงทุนของกลุ่ม Uni-President Enterprises ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ค้าอาหารจากประเทศไต้หวัน และกองทุนเพื่อการลงทุนซึ่งรวมทั้งบริษัท Farallon Capital Management บริษัท Hillhouse Capital และบริษัท Cathay Financial Holding

การเปลี่ยนชื่อจากการีน่า เป็น SEA สะท้อนเป้าหมายของการีน่า ที่จะขยายธุรกิจเกมส์ออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซครอบคลุมภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะต้องเจอกับคู่แข่งสำคัญคือกลุ่มอาลีบาบา ของนายแจ็ก หม่า ผู้ที่ซื้อบริษัทลาซาด้า ในปี 2559 และ เจดีดอตคอม (JD.Com) ยักษ์อี-คอมเมิร์ซใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน ซึ่งมีรายงานว่าได้ลงทุนในบริษัท โตโกพีเดีย (Tokopedia) เพื่อเจาะเข้าตลาดอี-คอมเมิร์ซของอินโดนีเซียเมื่อเร็ว ๆ นี้

การีน่า เป็นสตาร์ตอัพที่ก่อตั้งขึ้นโดยนายฟอร์เรสต์ ลี (Forrest Li) ที่สิงคโปร์ในปี 2552 ปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์ เกมส์ออนไลน์ การีน่า แบรนด์ช้อปปิ้งออนไลน์ ช้อปปี้ (Shopee) และบริการชำระเงินออนไลน์ แอร์เปย์ (AirPay)
บลูมเบิร์กระบุว่า กลุ่มการีน่า กำลังเตรียมนำกิจการเข้าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา โดยมีบริษัทโกลด์แมนด์ แซคส์เป็นบริษัทที่ปรึกษาและจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอ โดยนักวิเคราะห์คาดว่าเป้าหมายการระดมทุนจากตลาดหุ้นน่าจะอยู่ในระดับ 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 35,000 ล้านบาท)

[caption id="attachment_150362" align="aligncenter" width="503"] ฟอร์เรสต์ ลี ฟอร์เรสต์ ลี[/caption]

นักวิเคราะห์ตลาดทุนเชื่อว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ ในประเทศอินโดนีเซียจะดุเดือดที่สุดในอาเซืยน เนื่องจากเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดและเป็นตลาดที่มีโอกาสทางธุรกิจสูงจากที่เป็นตลาดเปิดใหม่

แถลงการณ์จาก ซี ระบุว่าทุนที่ระดมได้ในรอบใหม่นี้ จะใช้ในการขยายกิจการของ Shopee ในประเทศอินโดนีเซีย รองรับการขยายตัวของยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม Shoppee ใน 9 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่าทะลุ 3,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 105,000 ล้านบาท) แล้ว

นอกจากการระดมทุนครั้งใหม่ แล้ว ซี ยังประกาคแต่งตั้งที่ปรึกษาระดับสูง 3 คนซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงในอินโดนีเซีย คือนาย จอร์จ โย (George Yeo) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์ นายมารี ปังเกสตู (Mari Pangestu) นายปัญดู ซาห์รี (Pandu Sjahrir) ผู้อำนวยการของบริษัทถ่านหินชั้นนำของอินโดนีเซีย

กลุ่มการีน่า เปิดเผยด้วยว่า ในปี 2559 บริษัทระดมทุนได้ 170 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,950 ล้านบาท) โดยมีการประเมินมูลค่ากิจการที่ 3,750 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 131,250 ล้านบาท) มีนักลงทุนหลักคือ กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมาเลเซีย บริษัทเจเนอรัลแอตแลนติก เมื่อสิ้นปี 2558 มีรายได้รวมประมาณ 270 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 9,450 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเมื่อเทียบปี 2554

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560