อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 2017 โตกว่า 3.3%YOY

15 พ.ค. 2560 | 06:30 น.
อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 2017 โตกว่า 3.3%YOY หลังไตรมาสแรกโตเกินคาด

Event

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 1 ปี 2017 ขยายตัว 3.3%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) หรือเติบโต 1.3%QOQSA หากเทียบกับไตรมาสก่อนแบบปรับฤดูกาล

Analysis

การส่งออกสินค้า - การท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทย การส่งออกสินค้าขยายตัว 2.6%YOY  เติบโตสูงสุดในรอบ 4 ปี จากการฟื้นตัวของสินค้าที่ครอบคลุมในหลายหมวดมากขึ้น และเติบโตได้ดีในเกือบทุกตลาดส่งออก ยกเว้นการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดตะวันออกกลาง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของภาคการส่งออกได้รับแรงสนับสนุนจากทั้งปัจจัยด้านราคาและปริมาณ โดยราคาน้ำมันดิบโลกที่เติบโตกว่า 57%YOY ในไตรมาส 1 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติก เติบโตสูง นอกจากนี้ ภาคการผลิตโลกที่ฟื้นตัวทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักจากไทย ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เติบโตตามไปด้วย ในขณะเดียวกัน การส่งออกภาคบริการส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายโดยขยายตัว 3.2%YOY เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโตเพียง 0.4%YOY ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นกว่า 12%QOQSA ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 32%QOQSA สะท้อนการฟื้นตัวจากแรงกดดันระยะสั้น

การบริโภคภาคเอกชนยังไปต่อ แต่กระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยขยายตัวได้ 3.2%YOY นำโดยการบริโภคสินค้าคงทนที่พลิกกลับมาขยายตัวได้สูงหลังจากหดตัวลงในไตรมาสก่อน เห็นได้จากการซื้อยานพาหนะที่เติบโตถึง 13.9%YOY ซึ่งเป็นผลดีจากการเปิดตัวรถยนต์นั่งรุ่นใหม่หลายรุ่นและส่วนหนึ่งได้เลื่อนการเปิดตัวมาจากปลายปีก่อนที่อยู่ในช่วงไว้อาลัย ประกอบกับมีการออกรายการส่งเสริมการขายใหม่ๆ ในช่วงต้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม การบริโภคที่ขยายตัวยังกระจุกตัวอยู่ในสินค้าคงทนซึ่งมาจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของครัวเรือนบางกลุ่มเท่านั้น ขณะที่การบริโภคสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนยังทรงตัว เนื่องจากรายได้ครัวเรือนโดยรวมยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน เห็นได้จากตัวเลขการจ้างงานในไตรมาสแรกลดลง 0.6%YOY ประกอบกับค่าจ้างแรงงานที่ลดลงประมาณ 0.7%YOY เช่นกัน

การลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้น ถึงแม้ว่าการลงทุนภาครัฐจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 9.7%YOY ตามการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการทั้งที่เป็นโครงการต่อเนื่องและโครงการที่เริ่มสร้างใหม่ในปีนี้  แต่การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวที่ 1.1%YOY จากการลงทุนเพื่อการผลิตที่ยังซบเซาเนื่องจากกำลังการผลิตที่ยังมีเหลือ ทั้งการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่หดตัว 11.6%YOY การซื้อเครื่องมือเครื่องจักรลดลง 0.3%YOY รวมไปถึงการก่อสร้างอื่นๆ ที่หดตัวลงมากจากผลของฐานสูงในปีก่อนที่มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนระดับตำบล

Implication

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่อเนื่อง คาดทั้งปีโตกว่า 3.3%YOY แรงขับเคลื่อนที่สำคัญมาจาก 1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยเฉพาะเม็ดเงินอัดฉีดจากงบกลางปี 2017 มูลค่า 1.9 แสนล้านบาทที่จะกระจายสู่เศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการขนาดเล็กในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเบิกจ่ายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งภาครัฐยังมีมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐจะเริ่มเบิกจ่ายในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป 2) กำลังซื้อภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นหลังครัวเรือนบางส่วนหมดภาระการผ่อนชำระรถยนต์จากโครงการรถคันแรกซึ่งจะเห็นผลชัดในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งรายได้ครัวเรือนภาคเกษตรที่น่าจะยังได้รับผลดีจากราคาผลผลิตที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน ประกอบกับการจ้างงานที่จะปรับตัวดีขึ้นตามแรงกระตุ้นภาครัฐในครึ่งปีหลัง 3) รายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่จะดีขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ โดยการเข้ามาของจำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสขยายตัวสูงในไตรมาสสุดท้ายจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี อัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มที่จะเริ่มชะลอลงในช่วงหลังจากนี้อาจส่งผลให้การส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถขยายตัวได้สูงเทียบเท่ากับในไตรมาสแรกของปี นอกจากนี้ ภาคการส่งออกไทยยังเผชิญความเสี่ยงจากภายนอกอยู่มาก จากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯเริ่มตึงเครียดมากขึ้นในประเด็นที่ไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศคู่ค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งตรวจสอบและหามาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า โดยอาจเริ่มเห็นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป ในขณะเดียวกันแม้ความกังวล Frexit ลดลงจากที่ Emmanuel Macron เป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปยังคงมีอยู่ จาก 1) แรงกดดันต่อการเจรจา Brexit อาจรุนแรงมากขึ้นจากแนวทางของสหภาพยุโรปที่ไม่ต้องการให้มี Free Brexit 2) ผลจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของฝรั่งเศสอาจไม่เป็นไปตามคาด และ 3) การเลือกตั้งผู้นำในเยอรมนีและอิตาลีที่กำลังจะมาถึง ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่กล่าวข้างต้นมีผลออกมาในทางลบจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และปริมาณการค้าโลกชะลอตัวลง ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยและกำลังซื้อของคนในประเทศให้ชะลอลงมากกว่าที่คาดได้

ผู้เขียน: ยุวาณี อุ้ยนอง และ พิมพ์นิภา บัวแสง

             ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์