แก้สับปะรดภูเก็ตล้นตลาด ดึงมหาวิทยาลัยช่วยเกษตรกรแปรรูป

15 พ.ค. 2560 | 07:16 น.
บ.ประชารัฐภูเก็ต เร่งแก้ปัญหาสับปะรดภูเก็ตทะลักออกมาล้นตลาดก่อนฤดู เตรียมดึงมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยเกษตรกรแปรรูป ยืดอายุผลผลผลิต เผยผลดำเนินงานรอบ 1 ปี สร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาท ส่งเสริม 5 กลุ่มสำเร็จ  ลั่นเดินหน้าต่อเนื่อง

IMG_6398

นางอรสา โตสว่าง กรรมการและเลขานุการบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ฝนตกชุกติดต่อกันเวลานานกว่า 2 เดือน ส่งผลทำให้สับปะรดภูเก็ตออกก่อนฤดู ทั้งที่ยังไม่ถึงฤดูจึงทำให้ราคาตกต่ำ มีกลุ่มเกษตรกรมาร้องเพื่อให้ทางบริษัทแก้ปัญหาให้ ทางบริษัทจะไปดึงมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวะในจังหวัดเพื่ออบรมและให้ความรู้กับเกษตรกรในเรื่องแปรรูปเพื่อยืดอายุให้กับสินค้า

"ปัญหาสินค้าเกษตร มีปัจจัยอื่นหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ เช่นเรื่องดินฟ้าอากาศ เป็นต้น ก่อนหน้านั้นก็มีปัญหาสัปปะรดนอกพื้นที่มาตีตลาดในจังหวัดราคาต่ำกว่า รวมถึงมีการแอบอ้างว่าเป็นสับปะรดภูเก็ตไปขายจังหวัดอื่นทำให้เสียชื่อ และภาพลักษณ์ ดังนั้นทำให้บริษัทต้องปรับไปตามสถานการณ์ในแต่ละวัน ก็เป็นความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่ง"

นางอรสา กล่าวต่อไปว่า การแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด จะต้องผลิตแปรรูป แล้วจะต้องควบคุมคุณภาพ เพื่อจะนำสินค้าไปจำหน่ายร้านค้าต่างๆในเครือพันธมิตรในบริษัท เพื่อให้เกษตรกรได้มีที่จำหน่าย เพราะที่ผ่านมามีแต่สนับสนุนผลิต แต่ไม่มีช่องทางจำหน่ายให้ ดังนั้นบริษัทจะเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกร และเอสเอ็มอี ในจังหวัด ผลิตให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสร้างแบรนด์ เพื่อตรงกับนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ในรูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise)"

สำหรับผลการดำเนินงานจัดตั้งบริษัท จังหวัดภูเก็ต เป็น 1 ใน 5 จังหวัดนำร่องที่จัดตั้งบริษัทประชารัฐรักสามัคคีที่ครบรอบ 1 ปีกว่าจะสร้างความเข้าใจให้คนในท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลในอดีตมีโครงการมาสนับสนุนไม่ต่อเนื่อง ไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องสร้างความเข้าใจและเลือกชุมชนกลุ่มที่เห็นด้วยพร้อมที่จะกล้าเสี่ยงนำร่องไปก่อน เพื่อเป็นตัวอย่างความสำเร็จ

"สำหรับความสำเร็จผลการดำเนินงาน ครบรอบ 1 ปี ได้ส่งเสริมชุมชนจังหวัดภูเก็ตจำนวน 61 ราย จาก 5 กลุ่มชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนผู้ปลูกสับปะรด กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งมังกรภูเก็ต กลุ่มผ้าบาติก กลุ่มนมแพะ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชน ด้วยการสร้างรายได้ให้กับชุมชนผ่านการจัดงานประสบความสำเร็จ กว่า 200 ล้านบาท"  อาทิ  1.งานภูเก็ตล็อบสเตอร์ festival 2016 เดือนสิงหาคม 2559 สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงกุ้งมังกรในช่วง Low Sea กว่า 4,500,000 บาท ทำให้เงินสะพัดในเดือนสิงหาคม 2559 กว่า 100, 000,000 บาท และได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งภูเก็ตเพื่อวิจัยและแก้ปัญหาอัตราการรอดของลูกกุ้งมังกรและอาหารเม็ดราคาประหยัดเพื่อจำหน่ายให้กับผู้เลี้ยงกุ้งมังกร ซึ่งได้ดำเนินการงานสำเร็จไปกว่าครึ่งแล้ว ส่วนปีนี้จะจัดอีก จากผู้ประกอบการจำนวนกว่า 30 ราย เพิ่มเป็น 200 รายจะเข้าร่วมด้วย"

นอกจากนี้ยังได้จัดงานบาติกและการจัดงาน Batik Design Week 2016 เดือนกันยายน 2559 ด้วยการรวมกลุ่ม 5 จังหวัดอันดามันใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชุมชนผู้ผลิตผ้าบาติกผลิตกระเป๋ากระจูดสร้างรายได้กว่า 420,000 บาท รายได้จากการจัดงาน Batik Design Week 2016 เดือนกันยายน 2559 กว่า 1,900,000 บาท และรายได้จากการสั่งในอนาคตกว่า 350,000 บาท

งาน " อ่องหลาย โป๊ปี่เป่งอ๊าน" (กินสับปะรดภูเก็ตรับโชคลาภ) โดยมีรายได้จากการจัดงานดังกล่าวกว่า 300,000 บาท และชุมชนนำเงินไปสร้างร้านขายสับปะรดภูเก็ตแท้ เพื่อบริการผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว และได้ร่วมมือกับนักวิชาการเกษตรสำนักงานเกษตรจังหวัดขอ GI และ GAP ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนจดทะเบียน Phuket Brand ร่วมมือกับภาคเอกชนผลิตสับปะรดภูเก็ตแปรรูปซึ่งจะทำสินค้า 4 ประเภท เพื่อจำหน่ายภายในโรงแรม ร้านขายของที่ระลึกในจังหวัดในประเทศและต่างประเทศต่อไป

ส่งเสริมนมแพะแปรรูป @ ฟาร์มแพะนาเหนือ สร้างรายได้จากการแปรรูปนมแพะกว่า 800,000 บาท ซึ่งจัดทำเป็นทหารจากนมแพะของชุมชน 4 ประเภท เพื่อจำหน่ายภายในโรงแรม ร้านขายของที่ระลึกในจังหวัดในประเทศและต่างประเทศ

พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตำบลท่าฉัตรไชยชุมชน (มอแกน)และตำบลป่าคลอกโดยการจัดโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวเชิงเกษตรท่องเที่ยวเชิงนิเวศและท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมพร้อมส่งให้บริษัททัวร์ 3 แห่ง คือ Takemetour.com ,Siamrisr.com และ Localalike.com ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวใหม่

นางอรสา กล่าวอีกว่า  ยอมรับว่าการเข้าไปกว่าจะทำความเข้าใจกับคนในท้องถิ่นไม่ใช้เรื่อง่าย ดังนั้นทางบริษัทจึงเลือกชาวบ้านที่มีใจก่อน เปิดใจ และต้องการความช่วยเหลืออย่างแท้จริง เลือกสินค้าเด่น เช่น ของดีในจังหวัด พิจารณาโอกาสต่อยอดหรือพัฒนาสินค้าได้ ดังนั้นจึงเห็นความสำเร็จใน 1 ปีที่เกิดขึ้นในบริษัทประชารัฐรักสามัคคีภูเก็ต จำกัด โดยในปี  2560 เริ่มขยายผลยังจังหวัดใกล้เคียงทางกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 10 จังหวัด บวกกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากสินค้าบางชนิดในจังหวัดภูเก็ตป้อนตลาดไม่เพียงพอ เช่น ผ้าบาติก ต้องจังหวัดนราธิวาส เป็นต้น