ดึงจีนผลิตรถอีวี ‘อุตตม’ตั้งทีมดูแลค่ายรถเร่งหารือบีโอไอ

17 พ.ค. 2560 | 06:00 น.
“อุตตม”เผย ไฮบริดไคเนติกจากจีน สนใจผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเป็นเจ้าแรก ขณะที่โตโยต้าและฮอนด้า หารือเบื้องต้นกับบีโอไอแล้ว

การชักจูงนักลงทุนเพื่อมาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ถือเป็น1 ใน 5 ของแผนงานหลักเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนให้การพัฒนาอีอีซีเกิดขึ้นภายใน 1-2 ปีนี้ ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการรายงานความคืบหน้าในการชักจูงนักลงทุนรายสำคัญ ที่แสดงความสนใจที่จะมาลงทุนแล้ว

นายอุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการชักจูงนักลงทุน ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวนออก (สกรศ.) อยู่ระหว่างการดำเนินงานจัดตั้งคณะทำงานเพื่อมาดูแลในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและบริษัทชั้นนำ และได้เริ่มจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลผู้ลงทุนในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีแล้ว

โดยพบว่าทางบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯและฮอนด้า ของญี่ปุ่น ได้มีการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นในเรื่องสิทธิประโยชน์ของการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอแล้ว หลังจากที่บอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติแผนส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์อีวี ไปเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา อีกทั้งในเร็วๆ นี้ จะมีผู้บริหารจากบริษัทไฮบริด ไคเนติก จากจีน จะเข้ามาหารือกับตนและกับทางบีโอไอหลังจากที่แจ้งเบื้องต้นมีความสนใจที่จะเข้าลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่อีวี เนื่องจากมีเทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเอง ซึ่งมองว่านักลงทุนรายนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์อีวีเต็มรูปแบบเป็นเจ้าแรกของไทยในช่วง 2-3 ปีนี้

ส่วนนักลงทุนเป้าหมายเช่น เทสลา, เซี่ยงไฮ้ มอเตอร์,บีเอ็มดับเบิลยู, ซูซูกิ,และเมอร์เซเดส-เบนซ์ กำลังอยู่ระหว่างการชักจูงนักลงทุนอยู่

ขณะที่อุตสาหกรรมอากาศยาน ได้รับความสนใจจากบริษัท SAAB ซึ่งได้มีการหารือกันไปแล้วโดยแสดงความสนใจที่จะลงทุนในการจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงและผลิตอะไหล่เครื่องบิน

นอกจากนี้ ทางบริษัท China Merchants Group จากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แสดงความสนใจที่จะลงทุน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่3 ซึ่งทางภาครัฐจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน โดยได้มีการหารือกันไปแล้ว นายอุตตม กล่าวอีกว่าส่วนที่มีความชัดเจนและจะมาลงทุนเป็นที่แน่นอนแล้วในด้านอี-คอมเมิร์ซ จะเป็นบริษัท ลาซาด้าฯ โดยตั้งแต่เดือนมีนาคมปีนี้เป็นต้นมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการหารือกับทางลาซาด้าไป5 ครั้งแล้ว ซึ่งได้ขอให้ทางลาซาด้าไประบุรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนการลงทุนให้ชัดเจนเพื่อให้สามารถดำเนินการพิจารณาคำขอได้ครบถ้วน

ขณะที่ล่าสุดช่วงวันที่ 9-11 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทางคณะทำงานได้ไปพบผู้บริหารบริษัท ฟูจิฟิล์มฯ ซึ่งมีความสนใจจะเข้ามาลงทุนทางด้านยา ก็ได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560