"บิ๊กตู่" หวัง EEC เป็นพื้นที่สำคัญของอาเซียน

12 พ.ค. 2560 | 14:03 น.
12พค.60-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า "พี่น้องประชาชนที่รักครับ, หากเรามองไปในอนาคต ภาครัฐหวังให้ EECกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของอาเซียน เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมอนาคต เป็นพื้นที่สำหรับการสร้างนวัตกรรม เป็นศูนย์กลางการคมนาคม การขนส่งและกระจายสินค้า และการบินของภูมิภาค ซึ่งจะทำให้ไทยเป็น gateway สำคัญหรือเป็นประตูเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตสูง

นอกจากนี้ พื้นที่ EEC จะตอบโจทย์อีกยุทธศาสตร์สำคัญที่จะสอดรับด้านการผลิต การขนส่ง และการเชื่อมต่อกับนโยบาย “One Belt One Road” ของประธานาธิบดี สีจิ้นผิง ด้วยนะครับ และก็นี่เป็นคำตอบว่าทำไมไทยต้องมีโครง สร้างพื้นฐาน ที่เชื่อมโยงกับจีนและประเทศอื่นๆ ทำไมไทยให้ความสำคัญกับการทำให้พื้นที่ EEC ให้เกิดการดึงดูดนักลงทุนทั่วโลก รวมทั้งจีนและประเทศอื่นๆ อีกด้วย

แนวคิดการมี “One Belt One Road” นี้เป็นนโยบายของจีน ในการสร้างความเชื่อมโยงกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เอเชีย ไปจนถึงยุโรปและแอฟริกา ซึ่งครอบคลุมจำนวนประชากรราว 4,500 ล้านคน มี GDP ที่บ่งบอกขนาดเศรษฐกิจรวมกันแล้วกว่า 23 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 และ 30 ของโลก โดยจีนพยายามที่จะส่งเสริมความเชื่อมโยงทั้งทางบก หรือที่เรียกว่าเส้นทางสายไหมทางเศรษฐกิจ จำนวน 3 เส้นทาง และทางทะเล หรือเส้นทางสายไหมทางทะเล ในศตวรรษที่ 21 จำนวน 2 เส้นทาง

ซึ่งจะเชื่อมระหว่างอาเซียน เอเชีย แอฟริกา และยุโรป โดยมีการเชื่อมโยงความร่วมมือ ในหลายด้าน อาทิความร่วมมือด้านนโยบาย การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าหากไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “One Belt One Road” นี้ ก็หมายถึงการเชื่อมต่อกับตลาดขนาดใหญ่ทั่วโลกซึ่งก็ขอให้ทุกคนไปติดตามแล้วก็ร่วมมือกันนะครับทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้

สำหรับการเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของ “One Belt One Road” นี้ สอดคล้องกับนโยบายการค้าของไทยที่ให้ความ สำคัญกับความเชื่อมโยงในภูมิภาค (Connectivity) เพื่อให้ไทย เป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลได้มุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงของไทยกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับนโยบายดังกล่าว

เช่น (1) โครงการประเทศไทย 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับจีนที่มี แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งเน้นเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และสินค้านวัตกรรม ซึ่งจะทำให้ร่วมกันเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ได้ และ
(2) โครงการ EEC ที่ผมได้เรียนไปแล้วข้างต้น เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาใช้ EEC ในการเป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าไปสู่กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนามรวมถึงประเทศอื่น ๆ บนเส้นทางสายไหมนี้อีกด้วยนะครับ

ขณะเดียวกันเราก็ได้มีการหารือกับสหรัฐอเมริกา กับท่านประธานาธิบดี ทรัมป์ ในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุนของไทย และอาเซียน กับสหรัฐอเมริกาอีกด้วย และได้มีการหารือกับรัสเซีย อียู และประเทศอื่นๆ ที่สำคัญ

สำหรับเรื่องเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่เรียกว่าไมโครเอสเอ็มอี (mSME) ในขณะนี้นะครับ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับ รัฐบาลได้เข้าไปถึงปัญหา และได้สนับสนุนให้มีการเข้าถึงกองทุน มีการฟื้นฟู มีการให้ความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนาตลาด การอำนวยความสะดวก รวมถึงกิจการใหม่ๆ สตาร์ทอัพก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยคนรุ่นใหม่นะครับ ซึ่งก็น่าที่จะสามารถเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้มากขึ้นในอนาคต

ก็ขอให้ทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในลักษณะ “ประชารัฐ” ได้มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ประเทศชาติ ส่วนผลกำไรธุรกิจของตนเองในวันนี้ อาจจะต้องเผื่อแผ่แบ่งปันนะครับ ผมเข้าใจดีนะครับ ว่าการลงทุน นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ก็ล้วนแต่อยากได้ผลกำไร และมีส่วนแบ่งในผลกำไรนั้นให้มากที่สุด แต่อย่าลืมนึกถึงผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายเล็ก รายน้อย มีทั้งประชาชนที่มีรายได้น้อย เราจะต้องเข้มแข็งไปด้วยกัน เศรษฐกิจของเราถ้าร่วมมือกัน ฐานก็จะยิ่งกว้างขึ้น
ประชาชนจะได้รับประโยชน์มากขึ้น ผู้บริโภคมีกำลังซื้อมากขึ้น ท่านก็มีกำไรมากขึ้นเอง โดยที่ประชาชนไม่เดือดร้อนนะครับ ช่วยกันคิดดูนะครับ ถ้าเราช่วยกันทำจะได้กุศลไปด้วย ในเรื่องการลงทุนจากต่างประเทศ วันนี้ก็มีหลายประเทศนะครับ หลายประชาคม ที่กำลังปฏิรูปเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อเมริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง อาเซียนมีหลายนโยบาย

เราเองก็อยู่ในฐานะสมาชิกและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ก็จำเป็นต้องมีส่วนร่วมกับทุกนโยบาย อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน เราต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่า หากเราไปทางนี้ทางโน้นคือการเลือกข้าง ผมคิดว่าเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนักนะครับ รัฐบาลพยายามอย่างยิ่ง ที่จะนึกถึงว่าจะทำอย่างไร เราจะได้ผลประโยชน์ที่เท่าเทียม

เราต้องรู้จักเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับไปด้วย นะครับ โลกเปลี่ยนเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ประเทศของเราให้สอดคล้องตัวเลขการขอลงทุนผ่านบีโอไอในช่วงสามปีที่ผ่านมา มียอดคำขอรวม 5,431 โครงการ คิดเป็นมูลค่ารวม 2.4 ล้านล้านบาท ลงทุนไปแล้วกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และยังคงมีการขอเข้ามาอย่างต่อเนื่อง มากบ้างน้อยบ้างตามรายไตรมาส เพราะเขาก็ต้องพิจารณาถึงการลงทุนและความคุ้มค่าในระยะยาวอีกด้วยนะครับ เราอย่าไปกังวลกับตัวเลขนี้มากนักนะครับ

ปีนี้ไตรมาสแรกขอลงทุนไปกว่า 60,000 กว่าล้าน ซึ่งก็น่าจะ ไม่มากไม่น้อยไปกว่าที่ประมาณการไว้ทั้งปีนะครับ ในโอกาสต่อไปไตรมาสต่อไป อีกทั้งเรายังมีโครงการ EEC นโยบาย “One Belt One Road” ที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้ว และก็มีแผนงาน IMT-GT อีกด้วยนะครับเป็นความเชื่อมโยงระหว่างไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียทั้งหมดเป็นโอกาสของประเทศไทยเราทั้งสิ้น"