"ประยุทธ์" ยกระดับ "เกษตรอินทรีย์"เพิ่มมูลค่า

12 พ.ค. 2560 | 14:00 น.
วันที่ 12 พ.ค.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า "ขอยกตัวอย่างความพยายามของภาครัฐที่จะดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของความ ก้าวหน้าของนโยบายที่จะส่งเสริมภาคเกษตรอย่างยั่งยืน สำหรับการปลูกข้าวนะครับ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าและรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรอย่างยั่งยืน

สำหรับข้าว จะมีการดำเนินงาน 3 โครงการหลัก ได้แก่ (1) โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ (2) การใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี และ (3) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โดยมีระยะเวลาการดำเนินงาน 5 ปี งบประมาณรวม 25,871.14 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มีการเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่โดยเพิ่มพื้นที่เป็น 750 แปลง เนื้อที่เพิ่มขึ้นอีก 0.75 ล้านไร่ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดีใน 21 จังหวัด รวมพื้นที่ 300,000 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์ให้ได้ 1 ล้านไร่ภายใน 3 ปี

ครอบคลุมเกษตรกรจำนวนกว่า 66,000 ราย ในปีที่ผ่านมานั้นรัฐบาลได้ส่งเสริมระบบเกษตรแปลงใหญ่ทั่วประเทศ มีเกษตรแปลงใหญ่ที่ปลูกข้าวรวม 425 แปลง เนื้อที่กว่า1 ล้านไร่ ส่วนการปลูกข้าวอินทรีย์ มีแหล่งผลิตข้าวที่ได้รับการรับรองแล้วใน 47 จังหวัด จำนวน 5,362 แปลง พื้นที่รวมกว่า 60,000 ไร่

นอกจากนั้นรัฐบาลยังดำเนินการแบบบูรณาการ ในการรณรงค์เพิ่มมูลค่าของผลผลิต โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เข้ามาประยุกต์ใช้ ในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงข้าว โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีจากบัญชีนวัตกรรมไทยของกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เป็นฐานข้อมูลในลำดับแรก

โดยยึดความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภคเป็นหลัก เพื่อให้ได้สินค้าที่ตรงกับความต้องการ รวมทั้งจัดหาตลาดรองรับผลผลิตจากพื้นที่แปลงใหญ่ ที่ให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างรากฐานให้ชุมชน และพี่น้องเกษตรกร ในการเพิ่มรายได้ สามารถพึ่งตนเองได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการน้อมนำเอาหนึ่งใน“ศาสตร์พระราชา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักดำเนินงานของภาครัฐ

จากพระราชดำรัสว่า “การช่วยเหลือสนับสนุนประชาชนในการประกอบอาชีพและตั้งตัวให้มีความพอกินพอใช้ก่อนอื่น เป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด เพราะผู้มีอาชีพและฐานะเพียงพอที่จะพึ่งพาตนเองได้ ย่อมสร้างความเจริญในระดับสูงขึ้นได้ต่อไป” ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นหัวใจในการปฏิรูปและพัฒนาประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไปพร้อมๆ กัน

สำหรับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มช่องทางการตลาด สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ และยกระดับรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรเพิ่มช่องทางการตลาด สร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ยกระดับรายได้ และสร้างความเข้มแข็งแก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

มุ่งเน้นให้พาณิชย์จังหวัดผลักดันเกษตรกรผลิตสินค้าอินทรีย์สู่มาตรฐาน สากล ปัจจุบันเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ในจังหวัดต่างๆ กว่า 30 จังหวัด โดยในปี 2559 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ประมาณ 4,000 ล้านบาท เป็นการส่งออกประมาณ 2,400 ล้านบาท (หรือร้อยละ 60)

และคาดว่าในปี 2560 นี้ ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ สามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับก่อนหน้า สินค้าที่สำคัญได้แก่ ข้าว พืชผัก ผลไม้ เหล่านี้เป็นต้น มีเกษตรกรหลายรายได้พัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์จนได้รับมาตรฐานสากลแล้วนะครับ

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์อีกจำนวนมาก ที่ยังอยู่ในระดับที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน สากล ทั้งนี้ก็เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการตลาดให้มากขึ้น จำเป็น ต้องมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาด้านการแปรรูป การสร้างตราสินค้า การขอรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล เชื่อมโยงสู่ตลาดโลก

ในเรื่องนี้ กระทรวงพาณิชย์ก็ได้มีโครงการอบรมฝึกปฏิบัติเชิงลึกในสวนเกษตรอินทรีย์ สำหรับพาณิชย์จังหวัด ที่มีเกษตรกรในพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ ในโครงการ Organic Training Program ทั้งนี้ก็เพื่อให้พาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ ที่รับผิดชอบด้านส่งเสริม และพัฒนาตลาดสินค้าอินทรีย์ ได้มีความรู้และศักยภาพในการสร้างมูลค่า เพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์

เพิ่มช่องทางการตลาดการสร้างเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์และผู้ประกอบการ สามารถถ่ายทอดและเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ในจังหวัดของตนได้ ทั้งในด้านการวางแผน การตลาด การบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ที่เรียกว่า (Story) ของสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ การขอตรารับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากล

และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในระดับนานาชาติอีกด้วย การอบรมฝึกปฏิบัติเรื่องเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ซึ่งในเรื่องนี้ ครั้งนี้กำหนดเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20พ.ค. จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างเกษตรกร ที่ทำเกษตรอินทรีย์กับพาณิชย์จังหวัดและเจ้าหน้าที่ โดยมีการฝึกปฏิบัติในฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่มีชื่อเสียง และได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล (IFOAM Accredited)

อาทิ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนบ้านหัวอ่าว สามพรานโมเดล จังหวัดนครปฐม และไร่ปลูกรัก จังหวัดราชบุรี เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งด้านการวางแผนการตลาด ช่องทางการตลาด ตลาดดิจิตอล การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และผู้ค้าเกษตรอินทรีย์ ผมขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่สนใจ ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่พาณิชย์จังหวัดนะครับ สร้างเครือข่ายกันออกไปมากๆ นะครับ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย

ความพยายามทั้งหมด ทั้งมวลของรัฐบาล ที่ผมได้กล่าวมาข้างต้น รวมทั้งที่เป็นเงินงบประมาณและวงเงินสินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ เช่น ธกส. ธนาคารออมสิน ก็เพื่อจะบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรด้วยนะครับ ในการแก้ปัญหาให้กับพี่น้องอย่างเป็นระบบและยั่งยืน"