ใช้จ่ายสงกรานต์มากกว่าแผน ช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชน

12 พ.ค. 2560 | 09:56 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ใช้จ่ายสงกรานต์มากกว่าแผน...ช่วยหนุนการบริโภคภาคเอกชน  แต่ครัวเรือนมีความกังวลต่อภาวะการครองชีพเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจเดือนเม.ย. 2560 พบว่า ครัวเรือนมีการใช้จ่ายมากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาพการบริโภคของภาคเอกชนเดือนเม.ย. แม้จะมีฐานเปรียบเทียบในปีก่อนที่สูงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่อีกนัยหนึ่ง ครัวเรือนกลับมีความกังวลมากขึ้นในเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมภาระหนี้) สะท้อนให้เห็นจากดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.2 ในเดือนเม.ย. 2560

ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.4 ในเดือนเม.ย. 2560 จากความกังวลในเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า รวมถึงเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำหลังอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนพ.ค. นี้ยังต้องติดตามหลายประเด็นที่อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงเปิดภาคเรียนของบุตรหลาน รวมถึงสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพ.ค. ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หากผลการประชุม OPEC ในวันที่ 25 พ.ค. มีมติขยายเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบไปจนถึงสิ้นปี 2560

การสำรวจภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนในเดือนเม.ย. 2560 ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนมีการใช้จ่ายมากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยร้อยละ 72.2 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจมีการวางแผนใช้จ่ายและสำรองเงินในการท่องเที่ยว-ทานอาหารนอกบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งร้อยละ 55.2 ของครัวเรือนกลุ่มนี้มีการใช้จ่ายจริงมากกว่าแผนที่วางไว้ เพียงร้อยละ 10.2 ที่มีการใช้จ่ายจริงน้อยกว่าแผนที่วางไว้ เนื่องจากส่วนใหญ่มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมการใช้จ่ายจริง เช่น เปลี่ยนจากการไปเที่ยวต่างจังหวัดมาเป็นรับประทานอาหารกับครอบครัวหรือพักผ่อนอยู่บ้านแทน ทั้งนี้ การที่ครัวเรือนใช้จ่ายมากกว่าแผนที่วางไว้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็น่าจะมีส่วนช่วยสนับสนุนภาพการบริโภคของภาคเอกชนในเดือนเม.ย. 2560 แม้ฐานเปรียบเทียบในปีก่อนจะสูงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ แต่อีกนัยหนึ่ง ครัวเรือนก็เป็นกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) มากขึ้น สะท้อนให้เห็นจากดัชนีองค์ประกอบที่แสดงมุมมองต่อค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 32.9 ในเดือนเม.ย. 2560

นอกจากนี้ ครัวเรือนก็มีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องสถานการณ์ราคาสินค้า หลังราคาสินค้าหลายรายการในเดือนเม.ย. 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในส่วนของสินค้าอาหารสด (เนื้อสัตว์-อาหารทะเล-ผักผลไม้) ที่มักจะมีราคาแพงขึ้นตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยลงเมื่อเข้าสู่หน้าร้อนซึ่งไม่ใช่ช่วงฤดูกาลแห่งการเพาะปลูก รวมถึงราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ที่กรุงเทพมหานครมีการปรับขึ้นค่าโดยสารในส่วนต่อขยายสายสีลม (โพธิ์นิมิตร-บางหว้า) และสายสุขุมวิท (บางจาก-สำโรง) จาก 10 บาท มาเป็น 15 บาทต่อเที่ยวเดินทางตั้งแต่ 1 เม.ย. 2560 ทั้งนี้ จากความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) และสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้าก็ส่งผลให้ภาพรวมความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือนเม.ย. 2560 ปรับตัวลดลง

ในขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ยังคงปรับตัวลดลง จากความกังวลต่อสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า รวมถึงความกังวลต่อรายได้และภาวะการมีงานทำ หลังจำนวนผู้ว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ทั้งนี้ ความกังวลที่มากขึ้นของครัวเรือนต่อประเด็นเรื่องรายได้และภาวะมีงานทำในอนาคตอาจจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าในช่วงครึ่งปีแรก

โดยสรุป  ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่อภาวะการครองชีพในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลง โดยในปัจจุบันเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราวอย่างการใช้จ่ายจริงที่มากกว่าแผนที่วางไว้ของครัวเรือนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าในเดือนต่อๆ ไป ครัวเรือนน่าจะคลายความกังวลในส่วนนี้ลง แตกต่างจากภาพในอนาคตที่ครัวเรือนมีความกังวลมากขึ้นในประเด็นเรื่องรายได้และภาวะการมีงานทำ

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย