"หนังวาย" ออนแอร์ บน Line TV

12 พ.ค. 2560 | 07:47 น.
บันเทิงสปริงนิวส์ -- จากกระแสความนิยมของ “นิยายวาย” ผู้กำกับหลายท่านจึงเลือกที่จะนำมาดัดแปลงหรือสร้างในรูปแบบภาพยนตร์หรือซีรีส์ และมีช่องทางให้เลือกชมมากกว่าจอโทรทัศน์ คือ “แอปพลิเคชัน” ซึ่งเข้าถึงง่าย แต่ความสุ่มเสี่ยงของบางฉากบางตอนนั้น ก็เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ปกครอง

“ซีรีส์วาย” ถูกนำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์บ้านเราอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะเป็นคอนเทนส์ที่มีผู้ชมเฉพาะกลุ่ม แต่หลาย ๆ เรื่องก็ได้รับความนิยม และเป็นกระแสในโลกออนไลน์ สร้างคู่จิ้นชาย-ชายออกมาให้แฟนคลับได้ตามจิ้นกันแบบต่อเนื่อง ก่อนจะพัฒนาไปสู่การรับชมผ่านทางแอปพลิเคชัน “ไลน์ ทีวี” ที่ได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น โดย 1 ในนั้นเป็นผลงานของผู้กำกับสายหลักอย่าง “แอนดี้ ราชิต กุศลคูณสิริ” ที่ตอนนี้กำลังจะมีผลงานออกมาเอาใจกลุ่มแฟนคลับแบบต่อเนื่อง

“บาร์โลโก้ที่ติดตัวเองมาก็คือ การทำซีรีส์วายซะส่วนใหญ่ ตั้งแต่ Make It Right 1 แล้วก็มา Water Boy ซึ่งยังคงตื่นเต้นอยู่เหมือนเดิม เพราะทุกครั้งที่เราทำซีรีส์แต่ละเรื่อง มันมีประเด็นที่เราอยากเล่าต่างกันไป ... สำหรับข้อจำกัดในการดู เรามองว่า ตอนนี้แพลตฟอร์มที่เป็นที่นิยมเลย ‘ไลน์ ทีวี’ อันอีกอันหนึ่งที่มาแรงมาก ๆ เรารู้สึกว่า กลุ่มทาร์เก็ตที่ดูเรื่องนี้ อย่างกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มที่ทำงานแล้ว น่าจะเป็นการเข้าไม่ยากสำหรับเขา” แอนดี้ ราชิต

 



 

ส่วนประเด็นที่ “ซีรีส์วาย” มักจะถูกมองว่า ชูเรื่องความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นจุดขายนั้น ความจริงแล้วเมื่อเปรียบเทียบกับของต่างประเทศค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก โดยเนื้อหาในบ้านเราจะเน้นไปที่ความน่ารัก กุ๊กกิ๊ก แนววัยรุ่น ให้ได้ใช้จินตนาการต่อกันไปเองมากกว่า

“ซีรีส์วายต่างประเทศส่วนใหญ่ จะเป็นลักษณะของการเป็นเรื่องเพศอย่างจริงจัง หรือเป็นเรื่องที่มีปมปัญหาซีเรียสเป็นส่วนใหญ่ คือ มันมีปมดราม่าเยอะ ต่างประเทศเขาจะเล่นในประเด็นที่เข้มข้น ส่วนเอเชียหรือไทยจะเป็นเรื่องราวที่ดูสบาย ดูแล้วยิ้ม ดูแล้วเป็นความหวัง เรารู้สึกว่า ซีรีส์ไทยได้ใจคนไทยกับแฟนคลับวายเพราะอย่างนี้” แอนดี้ ราชิต

แต่การที่ “ซีรีส์วาย” หันไปเจาะช่องทางออนแอร์บนแอปพลิเคชัน Line TV ซึ่งเป็นแอพที่เข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้ผู้ปกครองหลายคนกังวลถึงความเหมาะสมในการเข้าถึงของเยาวชนนั้น แอนดี้ ราชิต ยืนยันว่า กระบวนการตรวจสอบของ Line TV มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเหมาะสมด้านศีลธรรมอันดีของสังคม

“มันก็มีการกลั่นกรองระดับหนึ่งว่า ต้องไม่เป็นเนื้อหาที่ทำให้เกิดพิษภัยต่อสังคม เพราะ ‘ไลน์ ทีวี’ แม้จะเป็นอิสระก็ตามแต่ เหมือนเป็นช่องทางโซเชียล หลายคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย! มันเป็นอะไรก็ได้หรือเปล่า แต่ ‘ไลน์ ทีวี’ ก็ทำคอนเทนท์เพื่อสังคมอยู่ ถึงแม้จะเป็นวายก็ตาม” แอนดี้ ราชิต