เที่ยววัดหนัง ทานหมี่กรอบ คลองบางหลวง

14 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
ประตูน้ำสีส้มบานใหญ่ค่อยๆ โผล่พ้นจากผิวน้ำ เรือหางยาวหลากหลายขนาดนับสิบลำที่รอคอยพร้อมๆ กันตั้งแต่ปากทางเข้าคลองด่านจุดเชื่อมประสานระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวแห่งนี้

เมื่อเรือแล่นผ่านประตูน้ำบานแรกเข้ามาจนหมด จะมาเจอประตูน้ำบานที่สองที่กั้นรอจนระดับน้ำภายในของทั้งสองฝั่งสูงเท่ากัน เวลาผ่านไปพอจะสังเกตกลุ่มเพื่อนนักท่องเที่ยวจากเรือลำข้างๆ ให้ถนัดตา รู้สึกสะกิดทุ้งเข้าไปในหัวในว่านักเรือที่รายรอบล้วนแต่เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ มีเพียงสองสามลำเท่านั้นที่ยังเป็นคนไทยอยู่บ้าง

mp32-3261-3 “คลองด่าน” ลำคลองสายประวัติศาสตร์ที่ร่ำรวยไปด้วยเรื่องราวและมนต์เสน่ห์ เชื่อมต่อกับคลองบางหลวงหรือคลองบางกอกใหญ่ซึ่งแต่เดิมคือแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่าที่ลัดเลาะไปตามบ้านเรือนในฝั่งธนบุรี เหล่าผู้ชื่นชอบอ่านนิยายคงจะคุ้นหูชื่อ “คลองบางหลวง” เป็นอย่างดี เพราะแถบนี้ถูกกล่าวถึงในฐานะ “บ้าน” หลังแรกและหลังสุดท้ายในชีวิตของแม่พลอย ในสุดยอดนิยายอมตะเรื่อง “สี่แผ่นดิน”

การสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ทำให้เราค้นพบว่า คลองด่านนี้มีอายุเกือบ 500 ปี เป็นคลองที่มีตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ราวปี พ.ศ. 2077 – 2089 เส้นทางสำคัญสำหรับการเดินทางด้วยเรือจากกรุงศรีอยุธยาไปออกแม่น้ำท่าจีนและปากอ่าวได้ ไม่เพียงเท่านั้นในสมัยสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ พระองค์เคยทรงเสด็จด้วยเรือพระที่นั่งผ่านคลองแห่งนี้เพื่อไปทรงเบ็ดที่ บ้านโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร เช่นกัน ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์คลองแห่งนี้จึงคับคั่งไปด้วยเรือสินค้านานาชนิดทั้งขาเข้าและขาออก จากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองต่างๆ ที่นี่จึงเป็นที่ตั้งของ “ด่านขนอน” จุดตรวจสินค้าและเก็บภาษีจากเรือที่ผ่านเข้าออกนั้นในรูปแบบ “สิบหยิบหนึ่ง” ตามระเบียบภาษีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

mp32-3261-4 อาคารบ้านเรือนที่เริ่มปรับเปลี่ยนตามทิศทางการคมนาคม จากหน้าบ้านที่เคยหันเข้าหาลำน้ำ ก็เปลี่ยนเป็นหันหน้าเข้าถนน หันหลังให้น้ำ พื้นที่ซึ่งชาวบ้านเคยยกร่องทำสวนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลหมากรากไม้นานาชนิด คือชุมชนเก่าแก่ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ที่ทรงมีเชื้อสายเป็นลูกหลานชาวสวนย่านนี้เช่นกัน พื้นที่ทุกตารางนิ้วของลำคลองแห่งนี้จึงมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ชาติไทย นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษา วัดหนังราชวรวิหาร ที่เก็บเอาเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่รวมถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อนที่รังสรรค์เครื่องมือเลี้ยงชีพและอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ ผ่านการเข้าไปสัมผัสทุกองค์ประกอบได้จริง มิติใหม่ของการสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่หลอมรวมทุกเรื่องราวพร้อมผนีกความร่วมมือจากทุกมิติ สร้างเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ของท้องถิ่นอย่างแท้จริง

mp32-3261-5 หลังจากเพลิดเพลินกับการชมพิพิธภัณฑ์ ทรรศนา “วัดหนัง” ซึ่งถือเป็นวัดต้นแบบของศิลปะนอกอย่างหรือแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสิ่งก่อสร้างและสิ่งประดับต่างๆ ล้วนได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบจีนไปแล้วนั้น ก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน เมื่อมาถิ่นนี้แล้วก็นึกถึงหมี่กรอบขึ้นชื่อแถบท่าน้ำตลาดพลู “หมี่กรอบจีนหลี หรือ หมี่ ร.5” ต้นฉบับหมี่กรอบรสเลิศ เครื่องเสวยทรงโปรดในรัชกาลที่ 5 สืบทอดรสชาติต้นตำรับมาถึง 5 แผ่นดิน

mp32-3261-6 มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งนั้นขบวนเรือพระที่นั่งได้หยุดเทียบตลิ่งและมีมหาเล็กเดินมาที่ร้านหมี่จีนหลีให้จีนหลีผัดหมี่ จีนหลีเองก็ไม่ทราบมาก่อนคิดว่าขบวนเรือนั้นเป็นขบวนเรือขุนนาง จึงตั้งใจผัดอย่างสุดฝีมือ เมื่อนำมาตั้งเป็นเครื่องเสวย รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดหมี่นี้มาก จีนหลีได้เข็มพระราชทานเป็นค่าฝีมือ ตั้งแต่นั้นมากิติศัพท์ความอร่อยของหมี่กรอบจีนหลีก็เป็นที่เลื่องลือสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

mp32-3261-7 กระทะใบบัวตั้งบนเตาไฟรอจนน้ำมันร้อน เมื่อหย่อนเส้นหมี่ลงไปก็พองฟูกรอบสีเหลืองอร่ามไร้ที่ติ ตักขึ้นมาผึ่งไว้จนหยาดน้ำมัน คลุกเค้ากับน้ำปรุงรส ออกเป็นโทนสีน้ำตาลแก่ ทานกับต้นหอม พริกสด และถั่วงอกกรุบกรอบ ลืมความหิวที่หิ้วท้องมาตั้งแต่ตะวันโผล่ฟ้นฟ้าไปปลิดทิ้ง ก่อนกลับยังไม่ลืมสั่งหมี่กรอบใส่กล่องไปทางที่บ้าน พ่วงด้วยโรตีกรอบราดนมข้นหวานมันไว้ทานระหว่างทาง เพียงเท่านี้ความเพลิดเพลินของการชมคุ้งน้ำคลองบางหลวงก็งดงามคุ้มค่ากว่าการนั่งอ่านรีวิวการท่องเที่ยวของคนอื่นๆ ผ่านหน้าจอย่างแน่นอน

[caption id="attachment_148947" align="aligncenter" width="503"] เที่ยววัดหนัง ทานหมี่กรอบ คลองบางหลวง เที่ยววัดหนัง ทานหมี่กรอบ คลองบางหลวง[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560