ณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา

14 พ.ค. 2560 | 02:00 น.
เศรษฐกิจกัมพูชายังเติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับ 7 % มากว่า 5 ปีแล้ว และ ธนาคารโลก กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ก็ประเมินว่าจะขยายตัวในระดับนี้ถึงปี 2020 ภาคที่ขยายตัวมากที่สุดคือการก่อสร้าง ปีที่แล้วประมาณ 33% เกิดการพัฒนาโครงการอาคารความสูง 3 ชั้นถึงกว่า 30 ชั้น มากมายในพนมเปญกว่า 1,200 โครงการ ทั้งอาคารที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และโรงแรม ขณะที่อาคารที่อยู่อาศัยในแนวราบก็ขยายตัวไปทุกทิศทางของพนมเปญ
ตอนนี้สิ่งที่กัมพูชาขาดแคลนและต้องการคือ “บ้านมั่นคง”แบบของการเคหะฯสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย ทางการพนมเปญกำลังเริ่มคิดวางโครงการ เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีประสบการณ์ด้านนี้หากสนใจจะลงทุนในกัมพูชา

ด้านอุตสากรรมที่โดดเด่นของกัมพูชาคือ “สิ่งทอ” ที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง มีโรงงานสิ่งทอประมาณ 600 แห่ง แบรนด์ดังๆเช่นอาดีดาส ไนกี้ ซาร่า H&M ต่างเข้ามาใช้ฐานการผลิตในกัมพูชา เพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)และ ภาษีหรือค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บในอัตราเดียวกัน (MFN)ในการส่งออกซึ่งยังสามารถใช้ได้อีกนานเป็นสิบปี สิ่งทอไทยก็ย้ายฐานการผลิตมาที่กัมพูชาและบางส่วนก็ส่งกลับไปขายที่เมืองไทย

[caption id="attachment_148878" align="aligncenter" width="282"] ณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา ณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ กัมพูชา[/caption]

ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 168 ดอลลาร์ต่อเดือน(ประมาณวันละ 200 บาท) ซึ่งเป็นจุดเด่นคือต่ำกว่าไทย มีแรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก ชาวกัมพูชา 16 ล้านคนอายุเฉลี่ย 24 ปี

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทำรายได้เป็นอันดับสอง กัมพูชามีโบราณสถานที่มีชื่อเสียงอย่างนครวัด นครธม เป็น It’s a must ที่คนทั่วโลกอยากมาเที่ยว เขาเพิ่งขึ้นค่าเข้าชมนครวัดจากวันละ 20 ดอลลาร์เป็น 37 ดอลลาร์

อันดับ 3 คือรายได้จากภาคเกษตร กัมพูชาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสามารถพลิกฟื้นพื้นที่อันตรายจากช่วงสงคราม มีกับระเบิด ให้เข้าไปทำการเกษตร เพาะปลูก สร้างผลิตผล ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของระบบชลประทาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนในชนบท ถนนเชื่อมระหว่างเมือง สะพาน ทำให้การขนส่งสินค้าการเกษตรดีขึ้น นำสู่ตลาดได้ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพด คือผลผลิตส่วนใหญ่ที่เกินความต้องการในประเทศ สามรถส่งออกไปไทย จีน รายได้จาคเกษตรจึงเพิ่มขึ้น

บริษัทของไทยอย่างซีพี เบทราโกร ไทยเบฟ เข้ามาลงทุนด้านเกษตรในกัมพูชา ทั้งด้านพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป แปรรูปผลผลิต น้ำมันปาล์ม เครื่องจักรเครื่องมือการเกษตร ปุ๋ย เทคโนโลยีด้านการเกษตร และการซื้อผลผลิตกลับ

ภาคการก่อสร้างไทยมี SCG ที่ตั้งโรงงานปูนซิเมนต์ มียอดขายเป็นอันดับ1 ความต้องการปูนซิเมนต์ปีละประมาณ 5 ล้านตัน SCG ครองตลาดอยู่เกือบครึ่ง ปูนอินทรีมาร่วมทุนกับกลุ่มชิบหมง ลงทุน 262 ล้านดอลลาร์เตรียมสร้างโรงปูนอีก 1 โรงที่กำปอต กำลังการผลิตวันละ 5,000 ตัน

ในสินค้านำเข้าทั้งหมดของกัมพูชา ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 1 สัดส่วน 40% โดย 80% ขนส่งผ่านทางบกเป็นการค้าชายแดน ผ่านด่านถาวร 6 ด่าน แต่กัมพูชาส่งออกไปยุโรป จีน สหรัฐ ญี่ปุ่น เป็นอันดับต้นๆ

ส่วนคำแนะนำเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เนื่องจากกัมพูชามีที่ดินราคาถูก มีแรงงานเยอะค่าแรงตํ่ากว่าไทย แถมยังมีสิทธิพิเศษGSP ดังนั้นภาคการผลิตไทยไม่ควรไปแข่งกับกัมพูชา เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยควรเป็นภาคของการให้บริการโดยเฉพาะในภาคโลจิสติกส์ และการขนส่งกระจายสินค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560