‘ธเรศ’แนะวางแผนแม่บทฯ โรดแมป กสทช.ขับเคลื่อนไฮเทคการสื่อสารประเทศ

15 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
ประธาน กสทช. วางแผนแม่บทจัดทำสเปกตรัมโรดแมป และให้ความสำคัญกับไซเบอร์ซิเคียวริตีเพื่อผลักดันนวัตกรรมใหม่และปรับตัวให้ทันตามเทคโนโลยีพร้อมแจงหลังเปลี่ยนผ่านระบบสัมปทานเข้าสู่ใบอนุญาตส่งเงินเข้ารัฐถึง 5 หมื่นล้าน

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกล่าวว่า ที่ผ่านมาในการทำงานของ กสทช. มองเห็นถึงความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโทรทัศน์ระบบอะนาล็อกไปเป็นระบบดิจิตอล เนื่องจากต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดผลเสียต่อประเทศในอนาคต ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้เลิกผลิตทำให้มีต้นทุนในการจัดการที่สูงขึ้น ซึ่งทาง กสทช. เองก็ได้มีการเปลี่ยนแนวคิดระบบการจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต การประมูลคลื่นความถี่ 3จี ไปสู่ 4จี รวมไปถึงโอทีที ทีวี ที่เข้ามา ด้วยความคาดหวังที่จะเพิ่มการควบคุมคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชน

พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวต่อว่า ทาง กสทช. มีความต้องการที่จะส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมใหม่ เช่น การทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติ หรือ สเปกตรัม โรดแมป เพื่อกำหนดแนวทางของอุตสาหกรรมการสื่อสารของประเทศ ซึ่งนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับการแพร่ภาพกระจายเสียงแล้ว ยังเข้ามามีบทบาทในระบบโทรคมนาคม ทั้งการควบคุมยานพาหนะหรือการขนส่งมวลชนอย่างระบบรถไฟฟ้า การส่งเสริมและสนับสนุนระบบนิเวศสำหรับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ ด้วยการวางระบบโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรักเจอร์) เพื่อรองรับการใช้งานของประชาชน และอีกประเด็นที่ให้ความสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอินเตอร์เน็ต (ไซเบอร์ซิเคียวริตี) โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้และเข้าใจการใช้งานอินเตอร์อย่างปลอดภัย ซึ่งในประเด็นนี้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานหลายภาคส่วนในการเข้ามากำกับดูแล

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสทช. เป็นผลงานที่ค่อนข้างน่าพอใจทั้งการจัดประมูลเพื่อเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภาครัฐถึง 5.08 หมื่นล้าน การประมูลคลื่นความถี่ด้านกิจการโทรคมนาคม ทั้งคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ที่ทำรายได้กว่า 4.16 หมื่นล้านบาท คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ที่ทำรายได้กว่า 8 หมื่นล้านบาท และคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์อีกกว่า 1.5 แสนล้านบาท รวมทั้งการประมูลเลขหมายสวย ในปี 2559 มูลค่ากว่า 57 ล้านและในปี 2560 อีก 120 ล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นรายได้ที่นำส่งภาครัฐต่อไป

นอกจากนี้ นายฐากรตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยหลังการประชุมร่วมกับสมาคมผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตไทย หรือ ISP และกระทรวงดีอีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อติดตามผลการระงับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสมผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตและสื่อออนไลน์ว่า ทางสำนักงาน กสทช.ได้รับแจ้งจากทางเฟซบุ๊ก ว่าได้ปิดเว็บไซต์ที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 178 URL จากจำนวนทั้งสิ้นที่ศาลมีคำพิพากษาจำนวน 309URL ส่วนเว็บไซต์ที่เหลือ 131URL ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้โอกาสเฟซบุ๊กดำเนินการปิดให้แล้วเสร็จภายในวันอังคารที่16 พฤษภาคมนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,261 วันที่ 14 - 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560