วงเสวนา “วันปรีดี พนมยงค์” เชื่อ “ปชต.” ไปได้ หากไม่มี “ระบบเจ้าขุนมูลนาย”

11 พ.ค. 2560 | 12:49 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันที่ 11 พ.ค. 60 -- ผู้สื่อข่าวรายงานจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ว่า ในวันนี้ (11 พ.ค.) ได้จัดให้มีการอภิปรายเรื่อง “แนวคิดปรีดี พนมยงค์ กับบทเรียนและพัฒนาการประชาธิปไตย” เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ ประจำปี 2560 โดยมีนายไชยันต์ รัชชกูล จากคณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา, นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายปฤณ เทพนรินทร์ จากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ร่วมอภิปราย

นายไชยันต์ กล่าวว่า จะเห็นว่า นายปรีดีถูกโจมตีมากกว่าในคณะราษฎร และเป็นการโจมตีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2476 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นการสะท้อนความสำคัญของนายปรีดี โดยตนมองว่า ถ้าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ นายปรีดีจะไม่ถูกโจมตีนานเท่านี้ เพราะโจทย์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยยังเป็นเหมือนเดิม

นายไชยันต์ กล่าวอีกว่า ขณะที่ยุทธวิธีในการทำลายประชาธิปไตยก็ยังเป็นเหมือนเดิมเช่นกัน โดยนายปรีดีมักถูกโจมตีใน 5 เรื่อง 1.มักใหญ่ใฝ่สูง 2.ชิงสุกก่อนห่าม 3.ตัดหน้าเอาเครดิตเรื่องรัฐธรรมนูญ 4.เป็นคอมมิวนิสต์ 5.ฆ่าในหลวง รัชกาลที่ 8 ที่เป็นข้อกล่าวหาที่ฉกาจที่สุด ซึ่งข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้ยังมาพร้อม ๆ กับความพยายามฟื้นฟูอิทธิพลของเจ้าขุนมูลนายด้วย ขณะที่ การทำลายพลังประชาธิปไตย ก็ยังเป็นกลยุทธ์เดิม ๆ ยุทธิวิธียังเป็นเหมือนกับเหตุการณ์ก่อนรัฐประหารเมื่อปี 2490 พรรคการเมืองหนึ่ง ที่เป็นพรรคเดียวกันกับที่เคยล้มประชาธิปไตยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ทำการอภิปรายกล่าวในสภาเป็นเวลา 8 วัน 8 คืน จนรัฐบาลซวนเซ เสียเครดิตเพื่อปูทางให้มีการยึดอำนาจ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2557 เพียงแต่ว่า ไม่ได้มีแต่ในรัฐสภาเท่านั้น เพราะสภาพทางการเมืองไทยเปลี่ยนไปเป็น ... การเมืองมวลชน ... จึงใช้มวลชนบั่นทอนทำลายรัฐบาล และเชื่อว่า กลยุทธ์นี้จะถูกใช้ต่อไป

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อาจารย์ปรีดีเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ระบุว่า จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาฯ เมื่อมองย้อนกลับไปข้อความนี้สำคัญมาก หมายถึง ‘เมื่อชนะแล้ว ต้องพิทักษ์ไว้’ เพราะคณะราษฎรชนะ แต่เขี่ยลูกไปให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดามาเป็นนายกฯ ส่วนเจตนารมณ์ คือ ความมุ่งมั่นในความปรารถนาประชาธิปไตยมันอยู่กับเรา วันหนึ่งเราจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งผลของการก่อสร้างไว้ดีแล้ว ย่อมไม่สูญหาย ตราบใดที่ยังมีความพยายามรื้อฟื้นระบอบเจ้าขุนมูลนาย ตราบนั้น ‘ปรีดี พนมยงค์’ ก็จะยังมีความหมายกับสังคมไทย” นายไชยันต์ กล่าว

ด้าน นายปริญญา อภิปรายช่วงหนึ่งว่า น่าเสียดายที่ ‘ปรีดี’ ก้าวหน้าเกินไปในตอนนั้น ประชาธิปไตยจะก้าวหน้าได้ ประชาชนต้องเป็นพลเมือง มีความรับผิดชอบต่อประชาชน สิ่งที่จะช่วยคือ ‘การศึกษา’ วันที่ 27 มิ.ย. 2476 จึงก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้น ตนชื่นชมนายปรีดีมาก ที่เคยยอมรับว่า ตัวเองผิดพลาด และพูดว่า “ตอนที่ข้าพเจ้ามีอำนาจ ข้าพเจ้าไม่มีประสบการณ์ แต่เมื่อข้าพเจ้ามีประสบการณ์แล้ว ข้าพเจ้าไม่มีอำนาจ” เราเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไม่ได้ แต่เราเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จได้ในวันข้างหน้า

นายปริญญา กล่าวอีกว่า กลไกที่ทำให้ ส.ส. ตกอยู่ใต้อำนาจของพรรคการเมือง เริ่มต้นในปี 2517 แต่เดิมไม่เคยมีเรื่องพวกนี้เลย เพราะนายปรีดีนั้นทราบเป็นอย่างดีว่า เครื่องมือของรัฐบาลในการครอบงำผู้แทนปวงชน คือ ‘มติพรรค’ เมื่อประโยชน์ของปวงชนสวนทางกับประโยชน์ของพรรค เช่น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม แม้จะมี ส.ส. ไม่เห็นด้วย แต่ก็ทำตามมติพรรค เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการศึกษาและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต้องทำให้เลือกตั้งคล้ายกับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ที่แยกการเลือกตั้ง ส.ส. กับการเลือกตั้งผู้นำประเทศออกจากกัน ซึ่งผลที่ออกมาเกิดการคานอำนาจกันระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ

ขณะที่ นายปฤน กล่าวว่า แนวคิดประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ของนายปรีดี เป็นการประนีประนอมระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่ จะเกิดความเป็นไปได้ ถ้ามีชาตินิยมของประชาชน ที่ผ่านมานายปรีดีตระหนักและเข้าใจระบอบเก่า พร้อมทั้งลงหลักปักฐานระบอบใหม่ บทเรียนที่ได้จากหลักการแบบนี้ คือ ความพยายามเปลี่ยนการเมืองให้พร้อมรับมือกับเศรษฐกิจ ภายใต้ข้อจำกัดที่ต้องอยู่ภายใต้ชนชั้นนำที่เข้มแข็งยาวนาน เพราะคนเหล่านี้ครอบครองทรัพยากรทั้งกำลังและความคิด โดยรัฐประหารครั้งนี้หลายคนเชื่อจริง ๆ ว่า จะมีปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เชื่อในคำสัญญาว่า พวกเขาจะเมตตาแบบนั้นจริง ๆ แต่หากต้องการให้คนตัวเล็กมีส่วนร่วม ก็ต้องเป็นประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้ง อย่างน้อยนักการเมืองเหล่านั้น ประชาชนกดดันได้ ทั้งยังต้องมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อคัดค้านต่อรองผู้มีอำนาจ เพื่อเข้าถึงทรัพยากร ตามหลักประชาธิปไตยที่สมบูรณ์จริง ๆ

“การประนีประนอมกับระบอบเก่าของนายปรีดี เป็นไปตามเงื่อนไขของยุคสมัย ความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 ทำให้เราเห็นดุลยความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่ผลักให้ประชาธิปไตยก้าวหน้าได้บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ตอนนี้ความแตกแยกพัฒนามาไกลมาก ผู้คนรู้สึกขมคอ หากต้องให้ญาติดีกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เงื่อนไขสำคัญในความสำเร็จของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือ การประนีประนอมต้องค่อย ๆ เริ่มจากคนที่พอคุยกันได้ แล้วเริ่มขยายไป เพื่อคว้าโอกาสที่เราสามารถสร้างดุลยภาพใหม่ขึ้นมาในช่วงนี้ได้ มรดกทางภูมิปัญญาของนายปรีดีเหมาะสำหรับคนที่แสวงหาสังคมไทยที่ดีกว่า ในช่วงศักราชใหม่ที่เรากำลังผูกตัวเข้ากับทุนนิยมอย่างเข้มข้น” นายปฤน กล่าว