ดิจิทัล เวนเจอร์ส ฉายภาพเทคโนโลยีการเงินอนาคต งาน Money Expo

11 พ.ค. 2560 | 14:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

รายงานข่าวจากบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้พัฒนาฟินเทคในเครือธนาคารไทยพาณิชย์  ระบุว่าบริษัทได้เข้าร่วมงาน Money Expo กรุงเทพฯ ครั้งที่ 17 รังสรรค์พื้นที่ขนาด 200 ตารางเมตร ในโซน Fintech ขึ้นภายใต้แนวคิด The Future (Fin)Tech is NOW! สื่อให้เห็นถึงภารกิจหลักในการมุ่งสร้างเครือข่ายผลักดันระบบนิเวศฟินเทคที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นในเมืองไทย ด้วยการจัดแสดงเทคโนโลยีทางการเงินที่สอดประสานไปกับทุกมิติแห่งการใช้ชีวิตของผู้คนในรูปแบบสื่อดิจิทัลและอินเทอร์แอ็คทีฟ เพื่อสร้างความมีส่วนร่วมให้ผู้เข้าชมเพลิดเพลินและง่ายต่อการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยจัดแบ่งเป็น 3 โซนหลัก ดังต่อไปนี้

1) Tech Zone – มอบความรู้ด้านฟินเทคและเทคโนโลยีต่างๆ ในรูปแบบที่สร้างความมีส่วนร่วมกับผู้เข้าชมใน 4 เทคโนโลยีประกอบด้วย

1.1 Internet of Things (IoT) - เทคโนโลยีของการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์เข้าด้วยกัน ทำให้อุปกรณ์นั้นๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Bluetooth  หรือ Beacon เป็นต้น และนำมาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมทางการเงิน โดยดิจิทัล เวนเจอร์สอธิบายเทคโนโลยีนี้ผ่านกระปุกออมสินดิจิทัลที่สามารถแสดงจำนวนเหรียญที่หยอดลงไปได้แบบเรียลไทม์ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ หากนำไปประยุกต์ใช้กับร้านค้า หรือ ธนาคารในอนาคตก็จะทำให้การนับเหรียญนั้นสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น เกิดเป็น Digital Cashier ได้

1.2 Machine Learning -  เทคโนโลยีที่ทำให้คอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตอบสนองต่อข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอคำสั่ง เทคโนโลยีนี้ได้ถูกอธิบายผ่านการดู “โหงวเฮ้ง 4.0” ที่ใช้เทคโนโลยีนี้เรียนรู้ใบหน้าคนกว่า 7,000 หน้า เพื่อที่จะให้ผลคำทำนายที่แม่นยำมากที่สุด ซึ่งในอนาคตสามารถนำ Machine Learning ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการที่สาขาได้ เช่น การเรียนรู้อารมณ์ของลูกค้า ผ่านการสแกนสีหน้า หรือ น้ำเสียง หรือนำไปพัฒนาเป็นบริการ Robo-Advisory ที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้พฤติกรรมทางการเงินของลูกค้า จนสามารถให้คำแนะนำการจัดพอร์ทการลงทุนที่เหมาะสมแก่ลูกค้าได้ เป็นต้น

1.3 Blockchain  - เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาช่วยเรื่องการสร้างความปลอดภัย ความน่าเชื่อถือ และประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับการทำธุรกรรมทางการเงินและสินทรัพย์ออนไลน์ โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางในการตรวจสอบ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์สอธิบายผ่าน “อุตสาหกรรมรถยนต์” ที่แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่ง โรงงานผลิตรถยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ บริษัทประกัน และ บริษัทที่ปล่อยสินเชื่อ ใช้ระบบ Blockchain เดียวกัน ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส ทุกฝ่ายสามารถเรียกดูข้อมูลได้ทันที ทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และมีค่าใช้บริการที่ถูกลง

1.4 Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)

Augmented Reality (AR)  คือ เทคโนโลยีที่นำโลกแห่งความเป็นจริงมาผสมผสานกับโลกเสมือน ในรูปแบบ 3 มิติ ที่ได้รับความนิยมและถูกใช้ในเกมต่างๆ เช่น Pokemon Go หรือ แม้แต่แอพ Life.SCB ที่ให้ผู้ร่วมงานสนุกกับการเก็บเหรียญเพื่อนำไปแลกรับของต่างๆ และเป็นการทดลองการใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด ในขณะที่ Virtual Reality (VR) คือ เทคโนโลยีที่จำลองสภาพแวดล้อมเสมือน และให้ผู้ใช้เกิดการรับรู้เหมือนจริงมากที่สุด ในอนาคตสามารถไปประยุกต์กับการสร้างสาขาธนาคารจำลอง หรือ Virtual Bank เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้บริการต่างๆ ได้เสมือนการใช้บริการจากสาขาของธนาคารจริงๆ

2) Corporate Venture Capital Zone - สะท้อนภารกิจของ ดิจิทัล เวนเจอร์ส ในช่วงเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม ตลอดจนการสร้างเครือข่ายในต่างประเทศ ทำให้ดิจิทัลเวนเจอร์สและธนาคารไทยพาณิชย์มีเครือข่ายสตาร์ทอัพถึงกว่า 80 รายทั่วโลก

3) Tech Startups – พื้นที่แสดงผลงานของสตาร์ทอัพที่อยู่ในโครงการ Digital Ventures Accelerator Batch 0 (DVAb0) หลักสูตรเตรียมความพร้อมสำหรับสตาร์ทอัพซึ่งมุ่งต่อยอดให้สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการเติบโตได้จริงและสามารถขยายตลาดได้ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคผ่านการสร้างระบบนิเวศที่ดีที่สุดให้กับสตาร์ทอัพไทย อาทิ One Stock Home บริษัทขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์, ETRAN ผู้สร้างนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ารายแรกของไทย และ FlowAccount ผู้ให้บริการ ระบบบัญชีออนไลน์สำหรับธุรกิจ SMEs เป็นต้น ซึ่งในงานนี้ เหล่าสตาร์ทอัพได้เตรียมโปรโมชั่นพิเศษและส่วนลดมาให้ผู้ร่วมงาน อีกทั้งยังมีโอกาสนำเสนอธุรกิจและพูดคุยกับผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายจริงๆ อีกด้วย