อพท.ปั้นหลักสูตรท้องถิ่นดึงเยาวชนร่วมสืบสานท่องเที่ยว

11 พ.ค. 2560 | 08:45 น.
อพท.ร่วมภาคีเครือข่าย พัฒนาหลักสูตร‘ท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง’ เป็นพื้นที่นำร่อง  บรรจุเป็นวิชาเรียนตั้งแต่ประถมถึงมัธยม หวังสร้างความรู้และความภูมิใจให้แก่เยาวชน เป็นฐานกำลังสำคัญสร้างท่องเที่ยวยั่งยืน

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ  รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า  อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง  ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 จัดทำหลักสูตร “ท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเมืองโบราณอู่ทอง ให้เยาวชนในพื้นที่ได้ศึกษา โดยนำไปบรรจุเป็นวิชาหนึ่งในสถานศึกษาตั้งแต่ประถม 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6  เป้าหมายต้องการให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้และเข้าใจในรากเหง้าของถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง อันจะนำไปสู่ความภูมิใจ ความเข้าใจ และต่อยอดด้วยการนำไปใช้ประกอบอาชีพในพื้นที่ของตัวเอง

สำหรับการจัดทำหลักสูตร ‘ท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง’  อพท. ได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลายหน่วยงาน อาทิ กรมศิลปากรผ่านทางสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง มีการจับมือกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้มีชุดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองโบราณอู่ทองในเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดี ชุดความรู้เกี่ยวกับการตามรอยพระพุทธศาสนาแรกเริ่มและลูกปัดทวารวดี ชุดความรู้เกี่ยวกับธรณีสัณฐานเมืองโบราณอู่ทอง

“แนวคิดริเริ่มการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง เพราะแม้ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลความเป็นมาของเมืองโบราณอู่ทอง แต่ยังไม่เคยมีการจัดทำหลักสูตรหรือรายวิชาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวในเมืองโบราณอู่ทองให้แก่เยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามาก่อน และเพื่อให้คุณครูและอาจารย์นำไปใช้สอนแก่เยาวชนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในจังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เยาวชนเกิดความเข้าใจรากเหง้าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีในสมัยทวารวดีที่เมืองโบราณอู่ทอง จากเดิมที่ไม่เคยมีการจัดการเรียนการสอนในเรื่องนี้เลย” นายทวีพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ อพท. เริ่มพัฒนาหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา และนำร่างหลักสูตรไปทดลองใช้แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่างในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลอู่ทอง จำนวน 11 โรงเรียน ที่เข้าร่วมพัฒนาหลักสูตร จากนั้นนำผลที่ได้มาปรับใช้และออกเป็นหลักสูตรสมบูรณ์บรรลุผลสำเร็จพร้อมส่งมอบให้แก่สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 60 แห่ง ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่อู่ทอง 59 แห่ง และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง 1 แห่ง นับเป็นการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นฉบับแรกของประเทศไทย ซึ่ง อพท. จะนำรูปแบบนี้ไปปรับใช้กับพื้นที่พิเศษอื่นๆ ต่อไป

นายสมศักดิ์  โกลากุล ศึกษานิเทศสำนักงานเขตพื้นที่การศึกาประถมศึกษาสุพรรณบุรี เขต 2 กล่าวว่า จากหลักสูตร ‘ท้องถิ่นเมืองโบราณอู่ทอง’ ได้จัดทำสื่อการสอนเพื่อให้เหมาะกับเด็กในแต่ละวัย เพื่อให้การเรียนรู้มีความสนุกและเกิดการจดจำได้มากขึ้น โดยไม่เน้นแค่การเรียนเฉพาะบทเรียนในห้องเท่านั้น และจะให้ความสำคัญกับการพานักเรียนออกไปเรียนรู้จากสถานที่จริง  ในส่วนสื่อการสอนที่จัดทำไว้ นอกจากหนังสือซึ่งเป็นตำราเรียนแล้ว ยังได้จัดทำ ซีดี   การ์ตูน อนิเมชั่น  และยูทูป ให้เด็กๆ ได้ใช้ศึกษาค้นคว้า เด็กๆจะไม่รู้สึกเบื่อกับการเรียนวิชานี้

“เราคาดหวังเด็กๆ จะได้รับความรู้ในถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง และเด็กๆ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวในพื้นที่อู่ทองนี้เกิดความยั่งยืน เด็กๆ สามารถเป็นมัคคุเทศน์น้อย บอกเล่าเรื่องราวให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือนได้รู้จักอู่ทอง ดินแดนพุทธศาสนาและอาณาจักรทวารวดี  ที่สำคัญทำให้เขารักและหวงแหนในความเป็นคนอู่ทองมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นนับจากนี้ต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว