ปั้น TOD ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ลุ้นไจก้าเผยผลศึกษาพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานี

13 พ.ค. 2560 | 11:00 น.
ศูนย์คมนาคมพหลโยธินครอบคลุมพื้นที่ 2,325 ไร่ รัฐบาลและการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ต้องการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางมหานครแห่งใหม่ระดับอาเซียน เนื่องมีสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางแห่งใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงไปยังประตูสู่นานาชาติผ่านท่าอากาศยานดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ตลอดจนสามารถเชื่อมโยงไปยังสนามบินอู่ตะเภาได้อีกด้วย

ดังนั้นจากการที่กรุงเทพเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อจึงจำเป็นต้องนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางการคมนาคม(Transit-Oriented Development :TOD) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสม เพื่อหวังในการเพิ่มบทบาทให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางและต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ตามหลักแนวคิดการพัฒนา TOD ที่จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ที่ดินในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินเชื่อมต่อ ระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง ลานโล่งสาธารณะและพื้นที่สีเขียว และถนนสายรอง ให้เกิดการพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมใหม่ผสมผสาน หรือต่อยอดจากพาณิชยกรรมแบบเดิม พาณิชยกรรมเกี่ยวกับสินค้าเกษตร หรือพาณิชยกรรมผสมผสานด้านที่อยู่อาศัย

โดยจากการประเมินเบื้องต้นของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาตามที่ร.ฟ.ท.ได้ว่าจ้างศึกษาความเป็นไปได้พบว่าเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ให้เต็มศักยภาพจะมีประชากรหมุนเวียนกันเข้า-ออกพื้นที่สูงถึง 1 แสนคน เกิดการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สถานีกลางบางซื่อมากถึง 1 ล้านคนต่อวัน โดยคาดว่าจะมีการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนขนาดรองมากถึง 3.3 หมื่นคนต่อวันหากเปิดให้บริการในปี 2565 และจำนวน 1.05 แสนคนต่อวันในปี 2580

การพัฒนาศูนย์คมนาคมพหลโยธินแห่งนี้ยังจะทำให้เกิดการพัฒนาเป็นย่านชุมชนที่มีลักษณะการใช้ที่ดินแบบผสมผสานที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงระดับหนึ่งแสนคนเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ส่งผลให้เกิดความต้องการโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคต่างๆเพิ่มขึ้นตามมา ทั้งระบบไฟฟ้า ประปา การจัดการขยะมูลฝอย การบริหารจัดการจราจร การป้องกันน้ำท่วม การบำบัดน้ำเสีย การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ

ล่าสุดยังมีลุ้นผลการวิเคราะห์ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ.) และหากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(ไจก้า) ศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่แล้วเสร็จกระทรวงคมนาคมจะเร่งส่งมอบผลการศึกษาดังกล่าวให้ร.ฟ.ท. ไปบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง กองบัญชาการตำรวจนครบาล กระทรวงมหาดไทย ฯลฯ เพื่อให้ความร่วมมือในการร่วมดูแลและบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

สำหรับการอำนวยความสะดวกการเดินทางในพื้นที่จะมีแผนก่อสร้างจุดพักรถ BRT และศูนย์ซ่อมบำรุงบนพื้นที่ประมาณ 8.5 ไร่ มีระบบขนส่งมวลชนขนาดรองให้บริการทั้งรถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ทีที่สามารถจุผู้โดยสารได้ 3,000-1.8 หมื่นคนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ตลอดจนเส้นทางเดินยกระดับ และระดับพื้นดินและเส้นทางจักรยาน

ดังนั้นในเร็วๆนี้คงจะได้เห็นภาพการพัฒนาที่ชัดเจนตามที่ไจก้าของญี่ปุ่นมาดำเนินการศึกษาให้ฟรี ส่วนผลการปฏิบัติจริงในเรื่องการเปิดประมูลหาเอกชนเข้าไปร่วมลงทุนพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะแปลง A ของสถานีกลางบางซื่อจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่นั้นยังคงต้องตามลุ้นกันรัฐบาลใหม่สำหรับเมกะโปร์เจ็กต์หมื่นล้านอย่างศูนย์คมนาคมพหลโยธิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560