ใช้อีอีซีแทร็ค4.5แสนล. ดึงเอกชนเข้าร่วมพีพีพี7โครงการก่อสร้างปีหน้า

13 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
รัฐใช้อีอีซี แทร็ก เดินหน้าทำพีพีพีปีนี้ ดึงเอกชนเข้าร่วม7 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า4.56 แสนล้านบาท “อุตตม”เผยคาดหาผู้ประมูลได้ภายในปีนี้เริ่มก่อสร้างได้ภายในปีหน้า

ภายหลังที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้เขตพื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เป็นเขตส่งเสริมพิเศษ เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา และกำลังจะเสนอให้เขตนวัตกรรมดิจิทัล เป็นเขตส่งเสริม เพิ่มขึ้นอีกในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดขึ้นมาโดยเร็ว

โดยเฉพาะโครงการเร่งด่วน ที่ต้องดึงภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 หรือพีพีพี ที่ขณะนี้ได้มีการปรับแนวทางการเร่งรัดการอนุมัติโครงการพีพีพีในพื้นที่อีอีซีจากปกติ 40 เดือน ให้เหลือเพียง 8-10 เดือน เพื่อให้การสรรหาผู้ประมูลได้ภายในปีนี้และเริ่มการลงทุนก่อสร้างได้จริงตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า สำหรับโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญระดับสูงสุดในปี 2560 นี้ ในโครงการร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน(พีพีพี) ที่จะต้องใช้หลักการในการจัดทำข้อเสนอระเบียบและเงื่อนไขระเบียบการร่วมทุนเอกชนในพื้นที่อีอีซี หรือ EEC Track ที่จะดำเนินการในปีนี้ จะประกอบไปด้วย 3 กลุ่มหลัก ใน 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนกว่า 4.56 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานแห่งภาคตะวันออกที่อู่ตะเภา ที่จะรองรับผู้โดยสาร 15 ล้านคนใน 5 ปีข้างหน้าและสูงสุดถึง 60 ล้านคนในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือด้านการจัดทำศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระหว่างการบินไทยและบริษัท แอร์บัส จากประเทศฝรั่งเศส โครงการก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆของสนามบิน มูลค่าการลงทุนรวมประมารณ 2 แสนล้านบาท

โครงการรถไฟความเร็วสูงภาคตะวันออก จะเปิดประมูลในรูปแบบพีพีพี เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ทำให้การเดินทางจากพื้นที่อีอีซีถึงกรุงเทพฯไม่เกิน 1 ชั่วโมง มูลค่าการลงทุนราว 1.58 แสนล้านบาท และโครงการพัฒนาท่าเรือ เปิดประตูสู่ทะเลตะวันออกของเอเชีย มี 3 ท่าเรือที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังรยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 8.8 หมื่นล้านบาท โครงการท่าเรือมาบตาพุด รยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 1.015 หมื่นล้านบาท และโครงการท่าเรือพาณิชย์และเรือเฟอร์รี่ที่สัตหีบ มูลค่าลงทุนอยู่ระหว่างประเมิน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จะมีการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การดำเนินงานกระชับลงมา และขั้นตอนบ้างอย่างสามารถดำเนินการคู่ขนานกันไปได้ แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดำเนินงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งมองว่าโครงการเร่ง่วนดังกล่าวสามารถที่จะดำเนินการได้ตามแผน เนื่องจากขณะนี้การดำเนินงานขั้นตอนแรก เช่น การเจรจากับภาคเอกชนก็ได้ดำเนินการไปแล้ว หลังจากนี้ไปขั้นตอนการจัดเตรียมโครงการและการเสนอโครงการ จะใช้ระยะเวลา 3.5-4.5 เดือน หลังจากนั้นจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชน ใช้เวลา 4.5-5.5 เดือน เพื่อนำไปสู่การลงนามในสัญญาก่อสร้าง

ดังนั้น การใช้ อีอีซี แทร็ค ในโครงการดังกล่าวจะช่วยให้จัดหาผู้ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นปีนี้ และนำไปสู่การเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560