ทันตแพทย์ร้องบิ๊กตู่ปลดล็อกกฏหมายพลังงานนิวเคลียร์ฯ

09 พ.ค. 2560 | 08:08 น.
ทันตแพทย์ร้องบิ๊กตู่ ปลดล็อก กม.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ยื่น 2,000 รายชื่อวอนเปิดช่องให้อยู่ภายใต้มาตรา 25 และมาตรา 18 มาประกอบกัน เพื่อให้แพทย์ปฎิบัติงานได้ตามหลักสากล “เครือข่ายทันตอาสา” ชำแหละพ.ร.บ.ส่อเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ ชี้ส่งผลเสียพัฒนาทางวิชาชีพไม่เกิดประโยชน์-เพิ่มภาระประชาชน

วันนี้(9 พฤษภาคม 2560) เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล ทันตแพทย์สัมฤทธิ์ จิโรจน์วณิชชา ทันตแพทย์เชี่ยวชาญด้านทันตสาธารณสุข นำกลุ่มทันตแพทย์ ผู้ได้รับผลกระทบจากพ.ร.บ.นิวเคลียร์เพื่อสันติพ.ศ.2559 กว่า 200 คน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รวมตัวกันที่สนามม้านางเลิ้ง และส่งตัวแทน 40 คนเข้ายื่นรายชื่อทันตแพทย์กว่า 2,000 รายชื่อ พร้อมข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี(ครม.) ผ่านทาง นายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชนและองค์กรประชาชน พร้อมทั้งมอบดอกไม้ขอบคุณที่ถอดร่างกฎหมายควบคุมการใช้อุปกรณ์เอ็กซเรย์ฟัน เพื่อนำไปสู่การพิจารณาใหม่ จากนั้นได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายอลงกรณ์  พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนสภาปฏิรูปประเทศ(สปท.)คนที่1 ที่รัฐสภา ต่อประเด็นดังกล่าวด้วย

ทันตแพทย์เผด็จ ตั้งงามสกุล  แกนนำเครือข่ายทันตอาสา  กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวซึ่งมีเจตนาควบคุมปฎิกรปรมาณูขนาดใหญ่ หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับกัมมันตรังสี กำลังสร้างปัญหาในการตีความโดยเฉพาะเรื่องเครื่องเอกซเรย์ขนาดเล็กนั้น คือ เครื่องมือเอกซเรย์ทันตกรรมจะถูกเหมารวมควบคุมเข้าไปด้วยในการกำกับดูแลเช่นเดียวกับวัตถุกัมมันตรังสีและวัตถุนิวเคลียร์ที่มีความร้ายแรง ของกระทรวงวิทยฯ ซึ่งที่ผ่านมา เครื่องเอกซเรย์หมอฟันอยู่ภายใต้การดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้ว

“ขอตั้งข้อสังเกตในเรื่องความไม่ชอบและไม่ชอบมาพากลของกฎหมายดังกล่าว คือ การให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีเพิ่มขึ้น เพื่อดูแลควบคุมเครื่อง ซึ่งในความเป็นจริง ที่มาของเจ้าหน้าที่ คือ การเอาไว้ติดตามหลังมีการทดลองปรมานูหรือนิวเคลียร์  เพื่อติดตามผลกระทบ ซึ่งไม่มีความจำเป็นสำหรับใช้ในห้องทำฟัน  ที่โดยปกติมีเพียงหมอและผู้ช่วยโดยตัวหมอก็เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบทั้งหมดอยู่แล้ว ซึ่งการอ้างเรื่องเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด หรือควบคุม ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่โดยหน้าที่เหล่านี้ควรจะเป็นผู้ติดตามดูแลในอุตสาหกรรมใหญ่ๆที่ส่งผลกระทบมากมาย มิใช่เป็นตำแหน่งที่มีไว้ในห้องหมอฟัน และที่ผ่านมาการใช้เครื่องเอกซเรย์เพื่อการวินิจฉัยของหมอฟัน ไม่มีปรากฎว่าคนไข้ได้รับผลกระทบจากสารรังสีเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งไม่มีหลักฐานปรากฎมาเลย" ทันตแพทย์เผด็จ กล่าว

ทันตแพทย์ เผด็จ กล่าวต่อว่า ผลที่จะตามมา คือ ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากตัว พ.ร.บ.ดังกล่าว และกลายเป็นกฎหมายซ้อนกฎหมาย เพิ่มความยากลำบากให้กับการทำงานของหมอฟัน แล้วประชาชนจะเสียประโยชน์ในการรักษาตามมาตรฐานทางทันตกรรม  ภายใต้คำกล่าวอ้างเรื่องความปลอดภัย ซึ่งที่ผ่านมามีมาตรฐานความปลอดภัยรองรับอยู่แล้วในเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ โดยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานปรมานูเพื่อสันติ(ปส.) ขณะเดียวกันการเขียนกฎหมายควบคุมการครอบครองและการใช้งานเครื่องมือวินิจฉัยทางทันตกรรม ซึ่งมีอันตรายน้อยมาก โดยใช้อัตราโทษทางอาญาที่รุนแรง  เช่น จำคุก 5 ปี ปรับ 500,000 บาท  หรือ ความผิดตาม พ.ร.บ.จะเป็นแค่ขาดเอกสารจากหน่วยงาน แม้จะตรวจสอบความปลอดภัยและปฎิบัติตามขั้นตอนความปลอดภัยทางรังสีตามหลักวิชาการ ก็จะถูกลงโทษ ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายแพงขึ้นและเป็นภาระต่อประชาชนขึ้นไปอีก

“ขอเรียกร้องให้นายกฯดูแลปัญหาดังกล่าวนี้  ซึ่งปริมาณรังสีผลวินิจฉัยทางทันตกรรม มีปริมาณน้อยมากไม่ว่าจะเทียบกับปริมาณรังสีตามธรรมชาติ หรือรังสีทางการแพทย์ ทั้งลักษณะการใช้งาน สามารถวางมาตรการและปฎิบัติเพื่อลดระดับรังสีต่อผู้ป่วย ผู้ปฎิบัติงาน และประชาชนทั่วไปได้อย่างดี มีปริมาณต่ำจนไม่สามารถหาความสัมพันธ์หรือส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาวได้ ซึ่งอยากให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ ปลดล็อคปัญหาโดยให้อยู่ภายใต้มาตรา18 วัตถุกัมมันตรังสีใดที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพ.ร.บ.นี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และมาตรา 25  ให้นำมาบทบัญญัติในมาตรา 18 ใช้บังคับกำหนดเครื่องกำเนิดรังสีที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมตามพ.ร.บ.นี้โดยอนุโลม ควบคุมให้อยู่ใน พ.ร.บ.และปฎิบัติงานได้ตามหลักสากล” ทันตแพทย์ เผด็จ กล่าวและว่า

"ซึ่งมาตราที่ร้องขออยู่ ในหมวด3วัสดุกัมมันตรังสี และเครื่องกำเนิดรังสี สามารถปลดล็อคปัญหาตามมาได้  และควรนำกฎหมายในส่วนทันตกรรมไปใช้ดูแลอุตสาหกรรมที่เกียวข้องกับกัมมันตรังสีหนัก เพราะมันส่งผลอันตรายต่อประชาชนอย่างชัดเจน  ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข เครือข่ายฯ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการศาล เพราะพวกเราไม่มีทางเลือกอย่างอื่น  ขณะเดียวกันมาตรา77เองก็ระบุชัดเจนว่า การออกกฎหมายใดๆ กำหนดให้รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรับฟังกฎหมายที่เป็นประโยชน์ ซึ่งพวกเราต้องการอยู่ภายใต้กฎหมายที่ดูแลอย่างเหมาะสม ไม่ใช่กฎหมายซ้อนกฎหมาย ขณะเดียวกันในมาตรฐานสากล หรือเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลี หรือสหรัฐฯ ทันตแพทย์สามารถใช้เครื่องเอกซเรย์ได้ โดยไม่ต้องขอใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่น  โดยให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุข  ไม่ใช่ว่าให้กระทรวงวิทยฯเข้ามาดูแลซึ่งมันไม่ได้ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้น มีแต่ส่งผลกระทบกับประชาชน"

ขณะที่ทันตแพทย์สัมฤทธิ์ กล่าวว่า เจตนารมย์ของพ.ร.บ.ดังกล่าว คือควบคุมดูแล โรงงานปรมาณูนิวเคลียร์ หรือการจำกัดกากขยะปรมาณู แต่สุดท้ายก็มีการสอดไส้เครื่องเอกซเรย์ทันตกรรมฝังเข้าไปด้วย ซึ่งพวกเรามองว่าเป็นไปเพื่อการหาช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในอนาคต ทั้งนี้เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในทันตกรรมเกิดปัญหาน้อยมากๆไม่ต่างอะไรกับการใช้หลอดไฟธรรมดา จึงเป็นที่มาของข้อกังขาว่า ทำไมถึงต้องมาควบคุมและรวมเครื่องเอกซเรย์ของหมอฟันเข้าไปด้วยในกฎหมายนี้

“เมื่อเปรียบเทียบกับอาวุธปืนกับหนังสติ้กซึ่งต้องการให้หนังสติ้กขึ้นทะเบียนด้วย เมื่อเรายิงหนังสติ้กออกไปโดยไม่ขึ้นทะเบียนเราก็จะได้รับโทษหนักเท่ากับอาวุธปืน หรือทั้งจำทั้งปรับ หมอฟันที่ครอบครองเครื่องเอ็กซเรย์ก็ได้ร้บบทลงโทษรุนแรง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วกฎหมายฉบับนี้ออกมา ประชาชนจะไม่ได้ประโยชน์อะไร วิชาชีพก็ไม่ได้มีการพัฒนา และจะส่งผลในด้านจิตใจทำให้ประชาชนกลัวการเอกซเรย์ของหมอฟัน เกิดความระแวงในการทำงาน  ประชาชนก็สูญเสียค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงทางแฝง ซึ่งมันมีแต่เสียประโยชน์กับสิ่งที่จะเกิดขึ้น" นายแพทย์สมฤทธิ์ กล่าว