มีชัยชี้ "ปปช.+สตง." จับมือตรวจทุจริตได้

09 พ.ค. 2560 | 06:03 น.
วันที่ 9 พ.ค. 60-ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดสัมมนา เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ..." เเละนับเป็นการรับฟังความคิดเห็นกฎหมายลูกครบทั้ง 10ฉบับแล้ว

 

โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวเปิดการการสัมมนาใจความตอนหนึ่งว่า ถ้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่เข้มงวดเงินหลวง เงินแผ่นดินก็จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน กรณีการใช้เงินโดยไม่สุจริตก็ต้องไปว่ากัน แต่กรณีใช้โดยสุจริตแล้วเกิดผิดพลาดจะวางกติกาให้ต้องทำอย่างไร ไม่ให้ต้องรับผิดชอบภายหลัง ตรงนี้กรธ.กำลังคิดหาวิธีกันอยู่ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ได้รับความผิดหรือผลกระทบที่ไม่เหมาะสม

 

นายมีชัยกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กรธ.ยังคิดอีกว่า จะทำกฎหมายออกมาในลักษณะใดที่ให้การตรวจสอบงบประมานของภาครัฐ ไม่ซ้ำซ้อนหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะจะเป็นอันตรายกับระบบราชการได้ในอนาคต เบื้องต้นจะให้สตง.มีหน้าที่ในการตรวจสอบงบประมานภาครัฐว่า มีความถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ ป.ป.ช.ยึดรายงานจาก สตง.เป็นหลักเพื่อดำเนินการสอบสวนเชิงลึกต่อ และต้องมีการประสานงานทางข้อมูลต่าง ๆ ร่วมกันระหว่าง สตง.และ ป.ป.ช.

 

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบงบประมานของหน่วยงานอย่าง ป.ป.ช.จึงมีคำถามว่า สตง.จะสามารถทำได้หรือไม่ หากพบว่า ป.ป.ช.มีการใช้งบประมานโดยมิชอบ เนื่องจากผู้ที่เข้ามาตรวจสอบการทุจริตของ ป.ป.ช.คือ เจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. ซึ่งก็ได้ยินมาว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. มีอิทธิพลถึงขนาดป.ป.ช.กลัว

 

นายมีชัยกล่าวว่า ส่วนการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสตง.คือ กรมบัญชีกลาง แต่มักเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นแบบผ่านๆ ไม่เห็นมีการทักท้วงอะไร กรธ.จึงมองว่า ถ้าให้กรมบัญชีกลางทำหน้าที่บนพื้นฐานที่สตง.เคยกระทำ จะเหมาะสมหรือไม่ เพื่อให้เกิดเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบและใช้ระบบเเละแบบเดียวกัน และเมื่อใดที่ สตง.พบการใช้จ่ายเงินของรัฐไม่ถูกต้องตามวินัยการเงินการคลัง ก็สามารถประชุมร่วมกับองค์กรอิสระอื่นๆ เพื่อท้วงติงรัฐบาลได้

 

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด มีการเพิ่มบทบาทหน้าที่นอกเหนือจากตรวจสอบทางกฎหมาย แต่ยังเพิ่มเติมสาระสำคัญจากเดิม เช่น ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) อาจเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่อาจพบว่า จะมีการใช้จ่ายเงินที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือประชานิยม ลดแลกแจกแถม หากเห็นว่า การใช้เงินนั้น มีลักษณะหาเสียง ก็ไม่ใช่เพียงแค่ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. แต่ยังต้องส่งไปยัง กกต.ด้วย เพื่อวินิจฉัยตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะในกรณีที่เอาเงินแผ่นดินไปหาเสียง
"เมื่อคตง.เห็นว่า เข้าข่ายก็จะไปหารือร่วมกับป.ป.ช.และกกต. หากเห็นพ้องกันว่า การใช้จ่ายเงินเหล่านั้นจะก่อให้เกิดความเสียหาย ก็ต้องแจ้งไปยังรัฐสภาและครม.โดยไม่ชักช้าแต่ควรมีมาตรการกำหนดให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง"

 

ผู้ว่าฯสตง.กล่าวว่า ด้านการใช้เงินในทางราชการไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชน มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็จะส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้พิจารณา ส่วนการติดตามทวงคืนความเสียหายของรัฐที่เกิดขึ้นแล้ว หากหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ดำเนินการ สตง.มีอำนาจติดตามการทวงคืนเหล่านี้ แม้ไม่มีตัวแทนความเสียหายแทนประชาชน ก็อาจกำหนดให้สตง.เป็นผู้เสียหายแทนประชาชน สามารถฟ้องร้องได้ ทั้งนี้อยากให้มีการกำหนดเพิ่มเติมว่า สำหรับการกระทำที่ฝ่าฝืนหลีกเลี่ยง จนก่อให้เกิดความเสียหาย นอกจากผิดวินัย อาญา และแพ่งแล้ว ควรต้องมีโทษปรับทางปกครองเพิ่มเติมด้วย

 

พล.ท.พิศณุ พุทธวงศ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมได้พิจารณามาตรา 21-33 โดยได้ทำการแขวนเพื่อรอการพิจารณาในหลายมาตรา เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน เช่น มาตรา 21 ว่าด้วยการกำหนดให้กกต.จะต้องทำงานเต็มเวลา มีความสุจริตเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ซึ่งกมธ.อยากให้เพิ่มความเป็นกลางทางการเมืองด้วย มาตรา 22 เกี่ยวกับให้กกต.สามารถวางระเบียบ หรือให้ความเห็นในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีในระหว่างที่อายุสภาสิ้นสุดหรือมีการยุบสภาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ซึ่งเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องการห้ามแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ การให้เจ้าหน้าที่พ้นจากตำแหน่ง การอนุมัติงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อใช้ในการฉุกเฉินสิ่งเหล่านี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากกกต.

 

พล.ท.พิศณุ กล่าวอีกว่า อีก 1 มาตราที่แขวนไว้ คือ มาตรา 26 ว่าด้วยอำนาจเฉพาะตัวของกกต.ในกรณีที่พบการทุจริตการเลือกตั้ง ซึ่งที่ประชุมคณะกมธ.วิสามัญฯยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่ากกต.หนึ่งคนสามารถสั่งให้ยกเลิกการเลือกตั้งได้หรือไม่ แม้รัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 จะกำหนดเนื้อหาในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าควรจะเป็นมติของที่ประชุมกกต.ในการตัดสินใจหรือไม่ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกมธ.วิสามัญฯจึงต้องพิจารณาให้ชัดเจนอีกครั้ง

 

“มาตราที่แขวน เพื่อรอข้อมูลเพิ่มเติมให้การพิจารณาสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและให้สอดคล้องกับความคิดเห็นของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคณะกมธ.มุ่งหวังที่จะเห็นกกต.เปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางการจัดการเลือกตั้งที่ดีขึ้น เพราะการจัดการเลือกตั้งของกกต.ที่ผ่านมายังไม่สมบูรณ์เพียงพอ”พล.ท.พิศณุ กล่าว