ปูดยี่ปั๊วตัวการทุบราคาเหล็กงัดสต๊อกขายทำกำไร-โรงงานผลิตอ่วม

12 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
สมาชิกกลุ่มเหล็กส.อ.ท.ลั่นสภาพตลาดเหล็กครึ่งปีแรกยังไม่ดี ชี้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ราคาในประเทศไม่ขยับตาม ต้นเหตุยี่ปั๊ว งัดเหล็กที่ตุนไว้มาขายทำกำไร โรงงานผลิตยังบาดเจ็บเป็นแถวเหลือกำลังผลิตไม่กี่พันตันต่อเดือน ขณะที่นำเข้าสูง2-3หมื่นตันต่อเดือน

นายฐิติกร ทรัพย์บุญรอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฎิบัติการ บริษัท แอลพีเอ็น เพลทมิล จำกัด (มหาชน) เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงการประชุมกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กนัดล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าสมาชิกกลุ่มเหล็กมีความกังวลไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมตลาดครึ่งปีแรกยังไม่ดี ถึงแม้ราคาเหล็กในตลาดโลกสูงขึ้น แต่ราคาเหล็กภายในประเทศกลับไม่ได้ขยับตัวตาม โดยมีสาเหตุมาจากที่ยีปั๊วเป็นผู้กุมราคาโดยงดการซื้อในประเทศ เนื่องจากในช่วงที่ราคาเหล็กถูก มีการซื้อตุนไว้จำนวนมาก พอราคาเหล็กสูงขึ้นก็นำของที่ตุนไว้ออกมาขายทำกำไร ทำให้เวลานี้ทั้งยี่ปั๊วและผู้นำเข้าเหล็กมีบทบาทสำคัญมาก

"ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเวลานี้คือมีโรงงานผลิตเหล็กหลายบริษัทผลิตได้ไม่กี่พันตันต่อเดือน เปรียบเทียบกับการนำเข้าเหล็กบางชนิดนำเข้ามา 2-3หมื่นตันต่อเดือน"

นอกจากนี้การที่ราคาเหล็กปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งห่างราคาวัตถุดิบ ยกตัวอย่างราคาเหล็กเส้นในประเทศอยู่ที่ 1.60 หมื่นบาทต่อตัน แต่ราคานำเข้าบิลเล็ต(วัตถุดิบสำหรับผลิตเหล็กรูปทรงยาว เช่นเหล็กเส้น)อยู่ 1.50 หมื่นบาทต่อตัน จะเห็นว่าราคาใกล้เคียงกันมากจนไม่มีกำไร

"ในแง่โรงงานผลิต ถ้าจะผลิตโดยไม่เจ็บตัวจะต้องมีกำลังผลิตรวมตั้งแต่50%ของกำลังผลิตรวมขึ้นไป แต่การผลิตจริงทำได้แค่10-20% ผลิตออกไปขายก็ขาดทุน เพียงแต่ที่ยังผลิตอยู่ก็เพื่อรักษาฐานลูกค้า และรักษาแรงงานไม่ให้ตกงาน และยังมีความหวังว่าในครึ่งปีหลังสถานการณ์จะดีขึ้น"

อย่างไรก็ตามครึ่งปีหลังยังอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องจับตาตลาดอย่างใกล้ชิด ล่าสุดผู้ประกอบการในประเทศต่างรอมาตรการปกป้องไม่ให้เกิดการหลีกเลี่ยงพิกัดจากกระทรวงพาณิชย์ ถ้านำออกมาใช้ได้เร็วก็จะช่วยลดการนำเข้าได้ระดับหนึ่ง

ด้านนายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้ไปร่วมประชุมสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน (AISC)ที่จีน ก็ยกประเด็นปัญหาเดิมๆมาหารือกัน โดยเฉพาะ กรณีที่มีการส่งออกเหล็กและอุดหนุนเหล็กอัลลอยล์ส่งออกของจีน ซึ่งทางจีนบอกว่าพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่ ขณะที่อีกด้านหนึ่งจีนไล่ปิดโรงงานที่สร้างมลพิษ ก็วิตกกันว่าจีนจะย้ายโรงงานเหล่านี้มายังมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย ออกมาสร้างปัญหามลพิษนอกบ้าน อีกทั้งจะมาสร้างปริมาณการผลิตใหม่เพิ่มขึ้นทั้งที่ปัจจุบันเหล็กก็ล้นตลาดในประเทศอยู่แล้ว

"ก็มีการติงกันว่าการลงทุนของจีนนอกบ้านควรจะเป็นเหล็กคุณภาพสูง และการออกมาลงทุนของจีนจะต้องไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ก็มีการหารือกันว่า ต่อไปควรมีภาครัฐบาลจากทุกประเทศมาร่วมหารือด้วยไม่ควรจะเป็นการหารือเฉพาะในกลุ่มเอกชนเท่านั้น"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,260 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560